ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่ 'BBB+' และ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

02 Dec 2021

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ที่ 'BBB+' และอันดับเครดิตภายภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตพิจารณาจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ซึ่งคือ MUFG Bank, Ltd. (A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)

พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (Shareholder Support Rating: SSR) แก่ BAY ที่ 'bbb+' นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (VR) ของธนาคารซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเองที่ 'bbb'

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิต

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่า BAY เป็นธนาคารลูกที่มีส่วนสำคัญต่อกลยุทธ์ของ MUFG โดย MUFG มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% และมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดผ่านทางผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท BAY เป็นหนึ่งในบริษัทลูกในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทแม่ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการด้านการธนาคารอย่างครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาค ความเชี่ยวชาญของ BAY ในด้านธนาคารเพื่อรายย่อยยังได้สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุดธนาคารได้ลงทุนในสถาบันการเงินในประเทศเวียดนามและประเทศฟิลิปปินส์

MUFG เข้าซื้อกิจการ BAY ในปี 2556 และตั้งแต่นั้นมาได้มีการพัฒนาความเชื่อมโยงและประสานงานเชิงกลยุทธ์เพิ่มมากขึ้น บริษัทแม่ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการบริหารความเสี่ยงแก่ธนาคารลูกในไทย ตลอดจนการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สำคัญที่ใช้เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อของ BAY ให้กับลูกค้าต่างชาติของกลุ่ม

นอกจากปัจจัยด้านการสนับสนุนดังกล่าวแล้ว อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ยังสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารที่ระดับ 'AAA(tha)' สอดคล้องกับแนวทางของฟิทช์ในการจัดอันดับของธนาคารที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากธนาคารแม่ โดยที่ธนาคารแม่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทย

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY รวมการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของประเทศไทยที่ยังคงมีความท้าทาย โดยฟิทช์ให้ระดับคะแนนที่ 'bbb' ทั้งนี้ระดับคะแนนตามเกณฑ์ของฟิทช์ (implied factor score) ได้กำหนดปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารไทยอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกลุ่ม 'bb' อย่างไรก็ตามฟิทช์ปรับเพิ่มคะแนนที่ให้เนื่องด้วยอันดับเครดิตของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่าการสนับสนุนด้านเสถียรภาพของระบบการเงินจากภาครัฐและการเติบโตของเศรษฐกิจที่แข็งแรงน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถมีผลการดำเนินงานที่มีกำไรอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์คาดว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทย (GDP) น่าจะเติบโตในอัตราที่ 4.8%

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ยังได้สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจของธนาคาร ซึ่งได้คะแนนที่ 'bbb' และเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในฐานะหนึ่งใน 6 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB) ธนาคารดำเนินธุรกิจการเงินแบบครบวงจรในประเทศไทยแต่ในขณะเดียวกันก็มีจุดแข็งในด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค (ซึ่งคิดเป็น 48% ของสินเชื่อรวมในไตรมาส 3 ปี 2564) และลูกค้าบริษัทข้ามชาติ (13%) ฟิทช์เชื่อว่า BAY มีขนาดใหญ่พอและมีสถานะการแข่งขันที่ดีที่จะสามารถดำเนินธุรกิจอย่างมีกำไรตลอดวัฏจักรทางธุรกิจ โครงสร้างความเสี่ยงของ BAY ('bbb') สะท้อนถึงนโยบายการพิจารณาสินเชื่อและการควบคุมความเสี่ยงที่มีความสม่ำเสมอและธนาคารยังมีสัดส่วนสินเชื่อที่เป็นลูกค้าบริษัทข้ามชาติซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ

คะแนนสำหรับปัจจัยคุณภาพสินทรัพย์ของ BAY ที่ 'bbb' รวมการพิจารณาถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.71% ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 จาก 2.27% ณ สิ้นปี 2562 และฟิทช์คาดว่าจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากมาตรการช่วยเหลือในการจัดชั้นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด Covid-19 เริ่มหมดอายุลง อย่างไรก็ตามธนาคารได้เพิ่มการกันสำรองตั้งแต่ปี 2563 และมีอัตราส่วนสำรองหนี้เสียต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 164% ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงได้ในระดับที่เหมาะสม

ผลประกอบการของ BAY ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 นี้ได้รับการสนับสนุนจากกำไรพิเศษจากการขายบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจการเงินระดับฐานราก (Microfinance) โดยหากไม่มีกำไรพิเศษดังกล่าวกำไรสุทธิจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน/สินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งไม่รวมกำไรพิเศษอยู่ที่ 1.8% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งแสดงถึงความความแข็งแกร่งของธนาคารแม้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ คะแนนด้านรายได้และการทำกำไรของ BAY ('bbb-') สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลในช่วง 18 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของความสามารถในทำกำไรให้กลับมาสู่ระดับเดิมก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากถูกจำกัดโดยสภาวะแวดล้อมอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง การเติบโตของสินเชื่อที่จำกัด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ BAY ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีพื้นฐานในการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ ทั้งนี้ความแตกต่างของอันดับเครดิตที่ 2 อันดับดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) ฟิทช์ใช้อันดับเครดิตภายในประเทศซึ่งเป็นอันดับเครดิตที่พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนเป็นอันดับเครดิตอ้างอิงเพื่อสะท้อนการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า MUFG จะให้การสนับสนุน BAY ก่อนที่กิจการจะเข้าสู่ระยะที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิต

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การปรับลดสมมติฐานของฟิทช์สำหรับโอกาสที่ MUFG จะให้การสนับสนุนแก่ BAY จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ BAY

ความสามารถของ MUFG ในการให้การสนับสนุนแก่ BAY นั้นสะท้อนโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ MUFG และการปรับลดอันดับเครดิตของ MUFG น่าจะส่งผลให้ อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศปรับลดลงเช่นกัน

การลดลงของโอกาสที่ MUFG จะให้การสนับสนุนแก่ BAY จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ BAY ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ลงต่ำกว่า 75% รวมทั้งการลดระดับในการควบคุมการดำเนินงานและความเชื่อมโยงในด้านการบริหารจัดการของธนาคารแม่ อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้น

ทั้งนี้การประเมินผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ยังได้รวมการพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

อันดับเครดิตตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดัยเครดิตภายในประเทศของธนาคาร

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'bbb-' หากธนาคารมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ ซึ่งอาจสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้พิจารณาอันดับเครดิตรวมถึงคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน โดยหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดการณ์อย่างมาก การที่สถานะทางการตลาดของธนาคารไม่สามารถที่จะช่วยให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามความคาดหมายและสอดคล้องกับการพิจารณาสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ฟิทช์คาดไว้ หรือ การปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของระดับความที่ยอมรับได้โดยไม่มีปัจจัยในการจัดการกับความเสี่ยงอย่างเพียงพอ ตัวอย่างเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมสูงกว่า 6% (ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อยู่ที่ 2.7%) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ต่ำกว่า 13 % (ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อยู่ที่ 15.6%) และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่ต่ำกว่า 120% (ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 164%) และ/หรือไม่สามารถรักษาระดับอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับสูงกว่า 1.5% (ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 1.8%)

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY จะส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการปรับลดอันดับ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงิน และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากฟิทช์ประเมินว่าโอกาสที่ MUFG จะให้การสนับสนุนแก่ BAY ปรับตัวดีขึ้น เช่น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ MUFG น่าจะส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ หากสมมติฐานในด้านโอกาสในการให้การสนับสนุนยังไม่เปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับได้อีก เนื่องจากเป็นอันดับที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้นจนสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและอาจได้รับปัจจัยผลักดันจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ดี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสะท้อนได้จากอัตราส่วนทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างยั่งยืน เช่นอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 2.5% รวมทั้งการคงระดับการยอมรับความเสี่ยงในระดับปานกลางและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเงินกองทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของปรับขึ้นมาอยู่สูงกว่า 16%
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY ไม่มีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดแล้ว

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุน และอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY มีความเชื่อมโยงกับสถานะทางเครดิตของ MUFG

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1'
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ 'bbb'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ให้อันดับที่ 'bbb+'
  • อันดับเครดิตสนับสนุน ยกเลิกอันดับเครดิต
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับเครดิตที่ 'AA(tha)'