ฟิทช์คงอันดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทยที่ 'BBB' และ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

02 Dec 2021

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ที่ 'BBB' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคาร เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) แก่ KBank ที่ 'bbb'

รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากทั้งอันดับเครดิตสนับสนุนจากทางรัฐบาล และความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank ยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KBank ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank รวมการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานในประเทศไทยที่ยังคงมีความท้าทาย โดยฟิทช์ให้ระดับคะแนนที่ 'bbb' ทั้งนี้ระดับคะแนนตามเกณฑ์ของฟิทช์ (implied factor score) สำหรับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารไทยอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกลุ่ม 'bb' แต่ฟิทช์ได้มีการปรับเพิ่มคะแนนโดยใช้อันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+' เป็นปัจจัยในการพิจารณา ฟิทช์เชื่อว่าในระยะปานกลางรัฐบาลจะสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดการเงินและช่วยให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีกำไรและยั่งยืน ฟิทช์คาดว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 4.8% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของธนาคาร

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank ยังได้สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไทย KBank ดำเนินธุรกิจธนาคารครบวงจรโดยมีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในหลายธุรกิจ เช่นในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ธนาคารดิจิทัล (digital banking) และการบริการธุรกรรมทางการเงิน (transactional banking) ซึ่งสะท้อนโดยระดับคะแนนในด้านโครงสร้างธุรกิจของธนาคารที่ 'bbb+' ที่บ่งชี้ว่าธนาคารมีตำแหน่งทางการตลาดในประเทศที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการสร้างกำไร สำหรับโครงสร้างความเสี่ยงของ KBank ได้รับคะแนนที่ 'bbb' สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้โดยรวมของธนาคารที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น แม้ว่าธนาคารจะมีสัดส่วนสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME ที่สูงกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีระดับหนี้เสียที่สูงกว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME อาจถูกลดทอนลงได้บ้างจากหลักประกันและการตั้งสำรองหนี้สูญล่วงหน้า (pre-emptive) อย่างไรก็ตามฟิทช์ให้แนวโน้มเป็นลบแก่คะแนนของโครงสร้างความเสี่ยง เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังคงมีต่อเนื่องจากสินเชื่อกลุ่มลูกค้า SME รวมทั้งความเสี่ยงจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงในช่วงปีที่ผ่านมา

คะแนนสำหรับปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ของ KBank ที่ 'bbb-' แนวโน้มเป็นลบ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าแรงกดดันต่อคุณภาพของสินทรัพย์น่าจะมีเพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการช่วยเหลือหมดอายุลงและอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อย่างไรก็ตาม KBank ยังคงมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพในระดับที่แข็งแรง (135% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564) และมีสัดส่วนหลักประกันต่อสินเชื่อในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่มลูกค้า SME ฟิทช์คาดว่าธนาคารน่าจะเพิ่มอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มกลับขึ้นมาในช่วงที่มีสภาพเศรษฐกิจเอื้ออำนวยมากขึ้นในระยะกลาง อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อของ KBank อาจเพิ่มแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งตามที่คาด ฟิทช์คาดว่าต้นทุนด้านเครดิตของ KBank จะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2564-2564 อย่างไรก็ตามในสมมติฐานกรณีพื้นฐานของฟิทช์ ความสามารถในการสร้างรายได้ของธนาคารน่าจะเพียงพอที่จะรองรับต้นทุนดังกล่าวได้ในขณะที่ยังคงความสามารถในการทำกำไรไว้ในระดับที่แข็งแรง

คะแนนด้านรายได้และการทำกำไร (earning and profitability) ของ KBank ที่ 'bbb-' พิจารณาถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่ารายได้ของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.0% ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 2564 (จาก 1.7% ในปี 2563) แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาด แม้ KBank จะมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มลูกค้าสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ซึ่งส่งผลให้ธนาคารเผชิญแรงกดดันในด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่น้อยกว่า และปัจจัยดังกล่าวอาจถูกหักล้างไปบ้างจากต้นทุนด้านเครดิตที่อาจยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งด้วยสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำน่าจะส่งผลให้ธนาคารมีโอกาสน้อยลงในการที่จะเพิ่มอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของ KBank (ที่ 15.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564) อยู่ในระดับที่แข็งแรงและสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่มีอันดับเครดิตระดับเดียวกัน ทั้งนี้ฟิทช์ได้ให้คะแนนด้านฐานะเงินกองทุนและระดับหนี้สินของธนาคารที่ 'bbb+' เนื่องจากฟิทช์คาดว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับอัตราส่วนเงินกองทุนในระดับที่สอดคล้องกับเกณฑ์สำหรับช่วงคะแนน 'bbb' และอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารอื่นในระยะยาว การประเมินของฟิทช์ยังได้สะท้อนถึงอัตราส่วน CET1 ที่คำนวณด้วยวิธีมาตรฐาน (standardized approach) และอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นทั่วไปที่จับต้องได้ (tangible common equity)/อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นที่จับต้องได้ (tangible equity) ในระดับสูงที่ประมาณ 12%

ระดับคะแนนสำหรับเงินทุนและสภาพคล่อง (ที่ bbb) ได้รับการสนับสนุนจากฐานลูกค้ารายย่อยที่มั่นคง แอพลิเคชั่นทางโทรศัทพ์มือถือที่เป็นที่นิยม และสัดส่วนของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันที่สูงโดยคิดเป็น 81% ของเงินฝากทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจากการมองว่า KBank มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคาร KBank มีประวัติยาวนานในฐานะหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากที่ประมาณ 14-15% มาเป็นเวลาต่อเนื่อง อีกทั้งธนาคารได้รับการกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 6 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบภายในประเทศ (D-SIB) ซึ่งสะท้อนถึงขนาดและระดับความสัมพันธ์ต่อระบบการเงินในประเทศ นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังได้พิจารณาถึงความสามารถของรัฐบาลไทยที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารโดยสะท้อนในอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ฟิทช์จัดอันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ KBank (ซึ่งออกขายทั้งในและต่างประเทศ) ที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ 2 อันดับ ทั้งสำหรับอันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคาร เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ สำหรับอันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตอ้างอิงคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตอ้างอิงคืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิและจำนวนอันดับเครดิตที่ลดทอนจากอันดับเครดิตอ้างอิงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลพร้อมกันจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับเช่นกัน อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารจะได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับ

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank อาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'bbb-' หากฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวด้อยลงอย่างมากกว่าที่ฟิทช์คาด ซึ่งอาจสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้พิจารณาอันดับเครดิต รวมถึงคะแนนด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน โดยหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาดการณ์อย่างมาก เช่นในกรณีดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมสูงกว่า 6% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ต่ำกว่า 13 % (ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 2564: 15.5%) รวมทั้งอัตราส่วนสำรองหนี้เสียต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพต่ำกว่า 120% (ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 2564: 134.5%)

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับหากฟิทช์เชื่อว่าความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ นอกจากนี้การปรับลดอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ KBank ลดลง เช่น จากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสที่ KBank จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
การปรับลดอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการปรับลดอันดับ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank ได้รวมการพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารปรับตัวดีขึ้นมาสอดคล้องกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและอยู่ในสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากโครงสร้างธุรกิจของธนาคารที่ช่วยสนับสนุนให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าภาคการธนาคารโดยรวมอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการได้แรงหนุนจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และอาจสะท้อนโดยอัตราส่วนทางการเงินของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงกว่า 2.5% (ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 2564: 2.0%) และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ต่ำกว่า 3% (ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 2564: 4.4%) โดยที่ยังคงความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น การมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่สูงกว่า 16%

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย อาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนธนาคารในประเทศ ซึ่งรวมถึง KBank อย่างไรก็ตามการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลต้องคำนึงถึงการที่โอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม ทั้งนี้หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KBank ก็ไม่น่าที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ KBank จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตอ้างอิงได้รับการปรับเพิ่มอันดับ

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ'

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KBank มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล ให้อันดับที่ 'bbb'
  • อันดับเครดิตสนับสนุน ยกเลิกอันดับเครดิต
  • อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ยกเลิกอันดับเครดิต
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ Euro Medium-Term Note ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่ารวม 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คงอันดับที่ 'BBB'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตสากลระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'BB+'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) คงอันดับที่ 'AA-(tha)'