TPCH ฉลุย! เริ่มทดสอบระบบจ่ายไฟ "สยาม พาวเวอร์" จ่อ COD ใน Q4/64 ลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม ดันกำลังผลิตรวมแตะ 250 MW ในปี 66

08 Dec 2021

บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เผยเริ่มทดสอบระบบจ่ายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะ"สยาม พาวเวอร์" ขนาดกำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์แล้ว เตรียมความพร้อม COD ภายในไตรมาส 4/2564 ตามกำหนด ฟากบิ๊กบอส "กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี"ระบุ จะช่วยสนับสนุนให้กำลังผลิตไฟฟ้าในสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์ เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา คาดปีหน้ามีความชัดเจน พร้อมลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 4-6 แห่ง เพื่อผลักดันให้กำลังผลิตในมือแตะระดับ 250 เมกะวัตต์ในปี 2566

TPCH ฉลุย! เริ่มทดสอบระบบจ่ายไฟ "สยาม พาวเวอร์" จ่อ COD ใน Q4/64 ลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม ดันกำลังผลิตรวมแตะ 250 MW ในปี 66

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานไตรมาส 4/2564 บริษัทฯ เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของบริษัทฯ โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าแล้ว ดังนั้น คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

"โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้า และเมื่อโรงไฟฟ้าขยะฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ก็จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ COD ไปแล้ว จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 และยังมีโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนกำหนด COD ในปีหน้า เชื่อว่าโครงการทั้งหมด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผลงานของบริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง" นางกนกทิพย์กล่าว

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า การที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 - 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี จะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์

อย่างไรก็ตาม อัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงจะได้ข้อสรุปอีกครั้ง

"ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติม อีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอัตราผลตอบแทนในการลงทุนของแต่ละโครงการ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะยาว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2565 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 50 เมกะวัตต์" นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด

อนึ่ง ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,870.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวมเท่ากับ 1,305.39 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 147.62 ล้านบาท

ขณะที่งวดไตรมาส 3/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 660.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวมเท่ากับ 472.97 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 51.75 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 5/2564 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด ในอัตราหุ้นละ 0.343 บาท รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 137.61 ล้านบาท โดยจ่ายจากกำไรสุทธิ ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 7 ธันวาคม 2564

TPCH ฉลุย! เริ่มทดสอบระบบจ่ายไฟ "สยาม พาวเวอร์" จ่อ COD ใน Q4/64 ลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม ดันกำลังผลิตรวมแตะ 250 MW ในปี 66