'บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง' หรือ CIVIL กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 4.60 บาทต่อหุ้น ชูเทคโนโลยีเสริมศักยภาพการบริหารโครงการก่อสร้าง

18 Jan 2022

'บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง' หรือ CIVIL ผู้นำด้านงานก่อสร้างและวิศวกรรมโยธาแบบครบวงจรของไทย กำหนดราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 4.60 บาท พร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 19-21 ม.ค. นี้ ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีเสริมศักยภาพการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจ พร้อมหลักบริหารจัดการสมัยใหม่และการเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนวัสดุเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน หนุนกำไรขั้นต้นและอัตราการทำกำไรสุทธิสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม เดินแผนสร้างสมดุลประเภทและขนาดโครงการทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่จากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและสาธารณูปโภคของภาครัฐ พร้อมต่อยอดงานภาคเอกชน และเสริมฐานความแกร่งในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับรับเหมาก่อสร้าง ก้าวสู่บริษัทก่อสร้างชั้นนำที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย

'บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง' หรือ CIVIL กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 4.60 บาทต่อหุ้น   ชูเทคโนโลยีเสริมศักยภาพการบริหารโครงการก่อสร้าง

CIVIL ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CIVIL กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาและงานก่อสร้างแบบครบวงจร ที่มีประสบการณ์ความชำนาญมากกว่า 50 ปี จากการพัฒนาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศมาแล้วมากกว่า 1,000 โครงการ ครอบคลุมตั้งแต่ งานทาง งานรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง งานท่าอากาศยาน เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ นิคมอุตสาหกรรมและงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เป็นต้น โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา CIVIL ได้ส่งมอบผลงานก่อสร้างที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ภายใต้งบประมาณที่กำหนด จึงได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานราชการขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาขั้นสูงสุดในด้านต่างๆ สะท้อนศักยภาพบริหารโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพของ CIVIL พัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเติบโตยั่งยืน

ความสำเร็จดังกล่าว มาจากข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันของ CIVIL ที่ให้ความสำคัญกับ ESG เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยความพร้อมของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา เครื่องจักรอุปกรณ์และเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนวัสดุส่วนก่อสร้าง 11 แห่ง ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของประเทศ ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการต้นทุนโครงการที่ดี และที่สำคัญได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันในทุกด้าน เช่น นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยวางแผน ติดตามและวิเคราะห์ต้นทุนก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ พร้อมใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องจักรทันสมัยที่เหมาะสม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโครงการ ทำให้เกิด Economy of Speed ลดระยะเวลาและต้นทุนดำเนินโครงการ รวมถึงนำหลักบริหารจัดการสมัยใหม่ เน้นความคล่องตัว (Agility) และความยืดหยุ่น (Resilience) เพิ่มความสามารถบริหารงานก่อสร้างได้หลากหลายทั้งประเภทและขนาดโครงการ สร้างสมดุลแก่การดำเนินงานกลุ่มธุรกิจก่อสร้างและบริหารโครงการก่อสร้าง ให้เอื้อต่อการสร้างผลตอบแทนการดำเนินงานโครงการที่ดี

เช่นเดียวกับธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ภาคการผลิตของโรงงานชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ แอสฟัลท์ติกคอนกรีต คอนกรีตอัดแรงและราวเหล็กลูกฟูกกันรถและท่อระบายน้ำ ตลอดจนการได้รับการต่ออายุสัมปทานบัตรการทำเหมืองหินปูน เป็นวัตถุดิบหลักในงานก่อสร้างและผลิตปูนซีเมนต์ ทำให้ CIVIL มีความได้เปรียบเชิงบริหารต้นทุนโครงการก่อสร้างที่ดี และยังสร้างโอกาสเติบโตที่ดีจากการจำหน่ายชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างให้แก่คู่ค้าของบริษัทฯ ขณะที่กลุ่มธุรกิจให้บริการอสังหาริมทรัพย์และให้เช่าเครื่องมือเครื่องจักร ที่ให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและเครื่องมือเครื่องจักร ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินธุรกิจและให้พันธมิตรทางธุรกิจร่วมเติบโตไปด้วยกัน และสอดคล้องกระแส Sharing Economy ของโลก

นายปิยะดิษฐ์ กล่าวว่า บริษัทฯ พัฒนาขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่บริษัทก่อสร้างชั้นนำที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ CIVL ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมใช้เทคโนโลยีและวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่ ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความทันสมัยช่วยบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสเข้าบริหารงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จากภาครัฐเพิ่มเติม ทั้งรูปแบบเข้าประมูลโครงการและจับมือพันธมิตรธุรกิจเพื่อร่วมบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านกระแสเงินสดให้แก่การดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ บริษัทฯ นำจุดแข็งต่อยอดสู่กลุ่มลูกค้าภาคเอกชนและสร้างโอกาสรับงานบริหารโครงการที่หลากหลาย เพิ่มอัตราผลตอบแทนการบริหารโครงการก่อสร้างให้สูงขึ้น และพร้อมขยายไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตอบสนองต่อความต้องการอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงขยายตัวและสร้างสมดุลของรายได้ให้แก่การดำเนินธุรกิจของ CIVIL ให้ดีที่สุด

นายโกวิท เนื่องสุข ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน CIVIL กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2562 - 2563 ประสบความสำเร็จในการผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 3,210 ล้านบาทในปี 2562 และเพิ่มเป็น 4,130 ล้านบาทในปี 2563 ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้รวม 3,736 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้รวม 2,999 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้มาจากกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมากกว่าร้อยละ 90 ของรายได้รวม ซึ่งมีอัตราขยายตัวอย่างโดดเด่นจาก 2,950 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มเป็น 3,752 ล้านบาทในปี 2563 และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 รายได้จากกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่ที่ 3,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,719 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 30% โดยมีมูลค่าสัญญางานโครงการก่อสร้างที่รอส่งมอบ (Backlog) รวมถึงโครงการที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 ประมาณ 16,800 ล้านบาท สะท้อนศักยภาพการดำเนินธุรกิจและโอกาสเติบโตที่ดีของบริษัทฯ ในอนาคต

ขณะเดียวกัน ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นและอัตราการทำกำไรสุทธิในกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของ CIVIL ยังโดดเด่น ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของบริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีอัตราการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 14.60 ในปี 2562 และร้อยละ 9.28 ในปี 2563 ส่วน 9 เดือนแรกปี 2564 มีอัตราการทำกำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 11.08 ตอกย้ำแนวทางการบริหารความหลากหลายโครงการช่วยสร้างสมดุลระหว่างมูลค่าโครงการและผลตอบแทนและการจัดสรรทรัพยากรขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และใช้ข้อเปรียบเชิงการแข่งขันในทุกด้านเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการดำเนินโครงการ ทำให้บริหารจัดการต้นทุนที่ดี เป็นผลให้มีกำไรสุทธิในปี 2562 อยู่ที่ 141 ล้านบาท และ 87 ล้านบาทในปี 2563 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 170 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 4.38 ร้อยละ 2.10 และร้อยละ 4.56 ตามลำดับ

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า จากการนำเสนอข้อมูลแผนดำเนินงานและศักยภาพการเติบโตของ CIVIL ต่อกลุ่มนักลงทุนสถาบัน พบว่า ได้รับความสนใจเนื่องจากบริษัทฯ มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากจุดเด่นประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมายาวนาน ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นสูงและความโดดเด่นด้านบริหารต้นทุนโครงการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนบริหารจัดการในหลายมิติรวมถึงมีโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเป็นของตนเอง ช่วยเสริมสร้างโอกาสเติบโตจากการรับบริหารโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเพิ่มขึ้นและต่อยอดขยายฐานลูกค้าภาคเอกชน พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายธุรกิจวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆ สร้างความมั่นคงของรายได้และผลักดันการทำกำไรขั้นต้นและอัตราการทำกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงกำหนดราคาเสนอขาย IPO ของ บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง ที่ 4.60 บาทต่อหุ้น พร้อมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2565 และคาดว่าจะสามารถนำหุ้น CIVIL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณวันที่ 27 มกราคม 2565 โดย CIVIL จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ ไปลงทุนเพิ่มเติมในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพบริหารโครงการก่อสร้างให้มีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนที่เหลือนำไปชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลดีต่อสถานะทางการเงินมีความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจในการเข้าบริหารโครงการก่อสร้างรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

'บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง' หรือ CIVIL กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 4.60 บาทต่อหุ้น   ชูเทคโนโลยีเสริมศักยภาพการบริหารโครงการก่อสร้าง