เอ็นไอเอ เดินนโยบายเชิงรุก ปลุกการลงทุนสตาร์ทอัพนานาชาติในไทย ชู 3 โกลบอลสตาร์ทอัพฮับรองรับหลากธุรกิจเทคฯ ปั้นไทยสู่ "สตาร์ทอัพแลนด์" เชื่อมตลาดเอเชีย

22 Mar 2022

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขานรับนโยบายรัฐบาลในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและผลักดันประเทศไทยให้เป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพจากทั่วโลกเพื่อเข้าสู่ตลาดเอเชีย โดยปักหมุด 3 พื้นที่สำคัญที่มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การอยู่อาศัย และเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ให้เป็นศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) นอกจากนี้ ยังได้ทำความร่วมมือกับร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ผลักดันโปรแกรม Smart Visa เพื่อดึงดูดสตาร์ทอัพและนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างชาติ ให้ความสนใจเข้าขอใช้บริการขอคำปรึกษาอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 356 ราย และจัดตั้งบริษัทได้แล้วจำนวน 38 บริษัท

เอ็นไอเอ เดินนโยบายเชิงรุก ปลุกการลงทุนสตาร์ทอัพนานาชาติในไทย ชู 3 โกลบอลสตาร์ทอัพฮับรองรับหลากธุรกิจเทคฯ ปั้นไทยสู่ "สตาร์ทอัพแลนด์" เชื่อมตลาดเอเชีย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ในฐานะหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพได้เดินหน้านโยบายดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย โดยกำหนดตำแหน่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพจากทั่วโลกเพื่อเข้าสู่ตลาดเอเชีย และมีการจัดตั้งศูนย์กลางสตาร์ทอัพระดับโลก (Global Startup Hub) และศูนย์การให้บริการภาครัฐแบบครบวงจร ณ จุดเดียวสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (One-Stop Service: OSS) เพื่อให้สตาร์ทอัพจากทั้งไทยและต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจกรรมและการให้บริการ ได้แก่ การบ่มเพาะเร่งการเติบโตของธุรกิจ การให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจ การตลาด กฎหมาย และทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างเครือข่ายของกลุ่มสตาร์ทอัพและกลุ่มนักลงทุน เวทีพบปะนักลงทุนและเจรจาต่อยอดธุรกิจ และกิจกรรมให้ความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นธุรกิจ พร้อมเครือข่ายการเชื่อมโยงไปสู่ตลาดที่ตรงกับรูปแบบของสินค้า / บริการ เพื่อให้เกิดทั้งความร่วมมือและการขยายตัวในประเทศไทย

ทั้งนี้ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ 3 แห่ง โดยพิจารณาจากบริบทที่สำคัญทั้งการอยู่อาศัย การมีเครือข่ายอุตสาหกรรมรองรับ พื้นที่ที่เอื้อต่อการตั้งสำนักงาน - การสร้างสรรค์งาน รวมถึงปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสำหรับการสร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้เป็นแหล่งเติบโตของสตาร์ทอัพทั้งสตาร์ทอัพในประเทศ และต่างชาติ ซึ่งประกอบด้วย

  • กรุงเทพมหานคร เมืองที่ได้รับการจัดอันดับจาก StartupBlink ให้เป็นเมืองที่เอื้อต่อการทำสตาร์ทอัพอันดับที่ 71 ของโลก และเคยเป็นเมืองอันดับที่ 1 ของเอเชียที่บรรดาสตาร์ทอัพแต่ละประเทศให้ความสนใจในการเข้ามาทำธุรกิจ โดย NIA จะสนับสนุนการผลักดันย่านปุณณวิถี และย่านอารีย์ให้เป็นต้นแบบย่านนวัตกรรมดิจิทัลและมีระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อดึงดูดบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างชาติให้เข้ามาประกอบธุรกิจภายในย่าน รวมถึงพื้นที่ย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งปัจจุบันได้รับการประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุนนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (deep tech) โดยมีศูนย์กลางการดำเนินงานอยู่ที่ NIA (ซอยโยธี) นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมของเครือข่าย และนโยบายจากภาครัฐที่พร้อมสนับสนุนการลงทุน และการจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในสาขาอื่น เช่น การจัดนิทรรศการและการประชุม หรือ MICE นวัตกรรมอาหารหรือ Foodtech ภายใต้การดำเนินงานของโครงการ Space-F ที่จะผลักดันกรุงเทพให้เป็น Foodtech Silicon Valley รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ AI และมีกิจกรรมการจัดแสดงผลงานของสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดปีมากกว่า 20 ครั้ง
  • เชียงใหม่ พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ โดยเฉพาะในการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพทั้ง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีจุดเด่นในหลากหลายด้านทั้งความเป็นเมืองสร้างสรรค์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็ง ความน่าอยู่อาศัยของเมือง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญในระดับโลก ฯลฯ ทั้งนี้ NIA ได้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกขึ้น ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาคทั้ง 11 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้ทำความร่วมมือกับเทศบาลเมืองเชียงใหม่ในการส่งเสริมย่านใจกลางเมืองให้เป็นพื้นที่ทดลองใช้นวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมชุมชนเมือง (City Lab) การพัฒนาย่านการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District: SMID) เพื่อให้เป็นพื้นที่การเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ และเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาค อีกทั้งยังมีย่านนวัตกรรมการเกษตรและอาหาร ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
  • เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อีกหนึ่งพื้นที่ยุทธศาสตร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งมีความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานทั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำ หน่วยรวิจัย ระบบโลจิสติกส์ การอยู่อาศัยที่มีทั้งความเป็นเมืองและชุมชน แรงงานที่มีความสามารถหลากหลายด้าน รวมถึงอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ตลอดจนความพร้อมของการท่องเที่ยว การเกษตร อาหาร ฯลฯ จึงเปรียบเหมือนเป็นแซนด์บอกซ์ที่สามารถรองรับสตาร์ทอัพที่จะนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดการแก้ไขปัญหา หรือการดำเนินธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับพื้นที่โดยเฉพาะใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การป้องกันประเทศ ดิจิทัล ฯลฯ ทั้งนี้ ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพบนพื้นที่ดังกล่าว NIA ได้ผลักดันให้ดีพเทคสตาร์ทอัพในสาขา ARI ( Artificial Intelligent , Robotics , Immersive & IoT) ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้วกว่า 10 ราย และคาดว่าในปี 2564-2566 จะเกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพระดับ Pre-series A อย่างน้อยประมาณรายละ 30 ล้านบาท โดยมีศูนย์กลางการดำเนินงานอยู่ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา

ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพไทยและต่างชาติ และผู้สนใจ เข้ามาร่วมกิจกรรมหรือใช้บริการขอคำปรึกษาผ่านศูนย์โกลบอลสตาร์ทอัพฮับอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 3,700 ราย นอกจากนี้ NIA ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการผลักดันโปรแกรม Smart Visa ซึ่งเป็นวีซ่าประเภทพิเศษเพื่อดึงดูดบุคลากรต่างชาติทักษะสูงและนักลงทุนต่างชาติให้สนใจเข้ามาทำงานหรือลงทุนในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีจำนวนสตาร์ทอัพต่างชาติให้ความสนใจสมัครเข้ามาแล้วกว่า 356 ราย และมีการจัดตั้งบริษัทได้แล้วจำนวน 38 บริษัท ทั้งนี้ สตาร์ทอัพ นักลงทุน และผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมและบริการของศูนย์โกลบอลสตาร์ทอัพได้ที่ https://globalhub.startupthailand.org/ หรือ เฟสบุ๊ค Global Startup Hub Thailand

เอ็นไอเอ เดินนโยบายเชิงรุก ปลุกการลงทุนสตาร์ทอัพนานาชาติในไทย ชู 3 โกลบอลสตาร์ทอัพฮับรองรับหลากธุรกิจเทคฯ ปั้นไทยสู่ "สตาร์ทอัพแลนด์" เชื่อมตลาดเอเชีย