มธ. เปิดตัว e-learning platform TU Next และจัดเสวนาทิศทางชุดทักษะแห่งอนาคตเพื่อก้าวไปข้างหน้ากับ มธ. ร่วมกับ Jobbkk.com และ ARIP

29 Mar 2022

สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทจัดหางาน Jobbkk.com และบมจ. เออาร์ไอพี จัดงานเสวนา ผ่าน ZOOM ในหัวข้อ The Future Skillset of 2022 and Beyond เสวนาทิศทางชุดทักษะแห่งอนาคตเพื่อก้าวไปข้างหน้ากับ มธ. และระบบเรียนรู้ออนไลน์ TU NEXT: www.tunext.com เพื่อให้ผู้บริหารและคนทำงานที่มีไฟในการพัฒนาตัวเอง รู้ถึงทิศทางและแนวทางการปรับตัวเพื่อตลาดแรงงานในอนาคต

มธ. เปิดตัว e-learning platform TU Next  และจัดเสวนาทิศทางชุดทักษะแห่งอนาคตเพื่อก้าวไปข้างหน้ากับ มธ.  ร่วมกับ Jobbkk.com และ ARIP

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวเปิดงานเสวนา The Future Skillset of 2022 and Beyond ว่า ตลาดแรงงานโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า งาน 85 ล้านตำแหน่งจะหายไป และจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง ก่อให้เกิดปัญหาแรงงานในวงกว้าง คนจำนวนมากจะไม่มีงานทำ และงานจำนวนมากจะไม่มีคนทำ เนื่องจากขาดทักษะที่ต้องการ ทักษะที่มีในปัจจุบันอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มธ. จึงได้พัฒนา TU NEXT e-learning platform ระบบเรียนออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อให้คนรักการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือคนรุ่นใหม่ได้เข้าอบรมในหลักสูตรเพื่อ Upskill & Reskill ในทักษะที่จำเป็น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันเป็นการสร้างเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการบูรณาการ ส่งเสริมการเรียนการสอนผ่านระบบเรียนรู้ออนไลน์ได้หลากหลาย โดยอยู่ภายใต้กรอบแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)

นายทัศไนย เหมือนเสน ผู้ก่อตั้ง Jobbkk.com กล่าวในหัวข้อเสวนา "การปรับตัวให้พร้อม เพื่อตลาดแรงงานในอนาคต" ว่า โลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption), เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก, อิทธิพลของโซเชียลมีเดียและบิ๊กดาต้า ทำให้บุคลากร รวมถึงองค์กรต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด พร้อมรับมือกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป โดยนายทัศไนยเน้นย้ำว่าคนทำงานรุ่นใหม่ต้องมี Meta Skill อันครอบคลุมถึงการสร้างทัศนคติแบบ Growth Mindset มีความพร้อมที่จะเติบโต กระตือรือร้น พร้อมจะพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ (Lifelong Learning) อยู่เสมอ พร้อมปรับตัวกับเทรนด์เกิดใหม่ในตลาดแรงงาน 4 เทรนด์สำคัญ ได้แก่ การเติบโตของงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล, ความสำคัญของ Soft Skills ที่เทียบเท่ากับ Hard Skills, ความสำคัญของงานที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า และการตระหนักว่าไม่มีทักษะใดที่จะเป็นที่ต้องการตลอดไป ดังนั้นลูกจ้าง และนายจ้างจึงจำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

นายบุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เออาร์ไอพี แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะบริษัทสื่อไอทีและธุรกิจชั้นนำของประเทศในหัวข้อเสวนา "Upskill & Reskill เมื่อความรู้มีวันหมดอายุ เพื่อปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ลูกจ้าง นายจ้าง ต้องไม่หยุดหาความรู้" ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 5G/6G จะทำให้เกิด Zero Latency หรือการไร้ความหน่วงในการรับ-ส่งข้อมูล ส่งผลให้นวัตกรรมแห่งอนาคตที่เคยเป็นเรื่องไกลตัวเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เช่น รถยนต์อัตโนมัติ, ระบบสายพานผลิตอัตโนมัติ หรือการขนส่งโดยใช้โดรน ทำให้งานหลาย ๆ ตำแหน่งอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะงานที่เป็นกิจวัตร เมื่อความรู้ที่ลูกจ้าง และนายจ้างมีในปัจจุบันกำลังจะหมดอายุ การ Reskill & Upskill จึงจำเป็น ในฐานะนายจ้าง นายจ้างจะต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมทักษะใหม่ที่จำเป็นให้กับพนักงานเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ในฐานะลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องตระหนักถึงทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต พัฒนาตนเองให้มีทักษะดังกล่าว เพื่อให้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน

ทักษะที่จะจำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ได้แก่ ความสามารถในการจัดการปัญหาบนฐานการคิด (thinking-based solution), ความฉลาดรู้ทางสารสนเทศ (information literacy), ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (digital literacy), ความสามารถในการมีอิทธิพลต่อความคิด (influencing and leading to goals) เป็นต้น

อ. ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ เน้นย้ำว่า ด้วยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนา Reskill & Upskill ทรัพยากรบุคคลของประเทศ จึงได้พัฒนา TU NEXT e-learning แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาเพิ่มเติมความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Learn Anywhere Anytime) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในเรื่องที่ตนเองสนใจได้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เรียนคนอื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่าย (Class Networking) มีระบบวัดผลที่มีประสิทธิภาพ และผู้เรียนสามารถขอดาวน์โหลดประกาศนียบัตรในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Certificate) ได้ เมื่อเรียนจบและสอบผ่านตามเงื่อนไข รองรับทุกอุปกรณ์ (Easy for all devices) เพื่อประสบการณ์การเรียนรู้ที่สะดวกและมีประสิทธิภาพที่สุด ปัจจุบันนี้แพลตฟอร์ม TU NEXT มีหลักสูตรให้ผู้เรียนเลือกเรียนมากมายที่ได้รับการออกแบบหรือรับรองโดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ. ดร.สุรพิชย์ ยังกล่าวเสริมว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีโครงการเปิดตัวหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ที่มุ่งเน้นการแบ่งปันประสบการณ์ สร้างเครือข่าย ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ของสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์

มธ. เปิดตัว e-learning platform TU Next  และจัดเสวนาทิศทางชุดทักษะแห่งอนาคตเพื่อก้าวไปข้างหน้ากับ มธ.  ร่วมกับ Jobbkk.com และ ARIP