มหาวิทยาลัยรังสิตเดินหน้าสู่ Digital University จับมือ TBWG ลงนามสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาความรู้ และทักษะเทคโนโลยี

02 Jun 2022

มหาวิทยาลัยรังสิตเดินหน้าสู่ Digital University จับมือ TBWG ลงนามสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาความรู้ และทักษะเทคโนโลยี มุ่งผลักดันนักศึกษาพัฒนานวัตกรรมบล็อกเชน แซนด์บ็อกซ์บน xCHAIN

มหาวิทยาลัยรังสิตเดินหน้าสู่ Digital University จับมือ TBWG ลงนามสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาความรู้ และทักษะเทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ บริษัท บล็อกเชน เวิร์คกิ้ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ TBWG ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาความรู้ และทักษะวิชาชีพด้านเทคโนโลยี มุ่งเน้นความร่วมมือในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาด้านการพัฒนาอาชีพ เสริมทักษะ และประสบการณ์ให้พร้อมก่อนเข้าสู่การทำงานจริง รวมถึงการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชนบน xCHAIN บล็อกเชนของคนไทยที่พัฒนาโดย TBWG

ผศ.ดร.ปถมาพร สุกปลั่ง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงวิสัยทัศน์และความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยรังสิตรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้ทำความร่วมมือกับบริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจเอกชน ปัจจุบันเราพบความร่วมมือแบบนี้มากขึ้น ขอบคุณวิสัยทัศน์ของทั้ง 2 ฝ่ายที่มองไปข้างหน้าว่าอนาคตนักศึกษาต้องการอะไร แล้วเราจะเตรียมอะไรให้ได้บ้าง ซึ่ง xCHAIN จะเป็น Blockchain Sandbox ให้นักศึกษาของเรา สิ่งนี้เป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัย ของสถาบันการศึกษา เราต้องเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาก้าวไปข้างหน้าแบบที่มีอะไรอยู่ในมือ มี Sandbox ที่เป็นเสมือนสนามเด็กเล่นให้พวกเขาทดลองเล่น ช่วยให้เขามีความพร้อมที่จะออกไปประกอบอาชีพ มหาวิทยาลัยเรามีบุคลากรที่มีความสามารถในเรื่องของวิชาการเรื่องของเทคโนโลยีเหล่านี้ เมื่อร่วมมือกันกับบริษัทในภาคธุรกิจเอกชนก็ยิ่งทำให้การเคลื่อนตัวไปข้างหน้าดีขึ้น ไวขึ้น ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิด Blockchain for Everyone และจะ Create Exciting Future ให้กับนักศึกษาของเราด้วย"                    

รศ.ดร.เชฏฐเนติ ศรีสอ้าน รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการต่อยอดสร้างนวัตกรรมบนบล็อกเชนว่า "มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนให้คนไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งรากฐานเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสามารถนำมาให้นักศึกษาได้โอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ได้บนพื้นที่ Sandbox โอกาสเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามากที่สุดในชีวิตของคนเรา ดังนั้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยรังสิตของเราสามารถมอบให้กับนักศึกษาได้ คือ โอกาส และพื้นที่ต่อยอดสร้างโอกาสต่อๆ ไปแก่พวกเขา ต้องขอขอบคุณผู้บริหาร และทีมงาน TBWG ที่เข้ามาร่วมสร้างโอกาสเหล่านี้"

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท บล็อคเชน เวิร์คกิ้ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นวันแรกที่เราสร้าง Genesis Block หรือบล็อกแรกของ xCHAIN ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของ TBWG ซึ่งเรามีความต้องการที่จะสร้าง Chain สำหรับประเทศไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้พัฒนา องค์กรการศึกษา และธุรกิจในประเทศ ในความตั้งใจแรก เพื่อแก้ไขในเรื่องของค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม และได้รับความร่วมมือจาก พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและบล็อกเชนชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด, I AM Consulting, Dome Cloud  และ Satang Corporation รวมถึงกลุ่ม Validator Nodes จากทั้งสถาบันการศึกษา และองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บริษัท เทอร์ราไบท์ เน็ท โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงพยาบาลนนทเวช จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอคอน เฟรมเวิร์ค จำกัด บริษัท ทรูเวฟ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป"

"จากความร่วมมือของ Validator Nodes ดังกล่าวทำให้ xCHAIN บล็อกเชนสำหรับทุกคน ใครก็สามารถเข้ามาใช้งานและพัฒนาแอปพลิเคชันได้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์สำคัญของเรา คือ การช่วยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยเสริมให้กับสถาบันการศึกษา ความร่วมมือของ Node ทุกคนจะช่วยสร้างสรรค์ให้เกิด Sandbox สำหรับนักศึกษา ให้ได้เข้าใจ และเรียนรู้กลไกของบล็อกเชน ฝึกฝนพัฒนาทักษะ เพื่อสามารถออกไปสู่โลกกว้าง ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ร่วมเป็น Node ที่ 21 ของ xCHAIN ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้กับนักศึกษาได้ฝึกฝนก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริงในอนาคตของพวกเขา" นายธนวัฒน์กล่าวเสริม

นายวรวิทย์ รัตนธเนศวิไล รองกรรมการและหัวหน้าทีมบล็อกเชน บริษัท ไอแอม คอนซัลติ้ง จำกัด ได้กล่าวว่า "xCHAIN มุ่งมั่นเป็น Foundation เป็นพื้นฐานของการทำเทคโนโลยีบล็อกเชนในระดับของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ บน xCHAIN ของมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน Ecosystem เดียวกันเช่นนี้จะสามารถต่อยอดการทำงานในลักษณะของ dApp กับทั้งมหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจบางส่วน ที่เป็น Node ทั้ง 21 องค์กร ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และขยายชุมชนบล็อกเชนของพวกเขาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีไอแอม คอนซัลติ้งช่วยเป็นตัวช่วยต่อยอดให้กับ Node ต่างๆ ได้"

ปัจจุบันมีการพัฒนา dApp บน xCHAIN ที่จะช่วยสนับสนุนภาคการศึกษา ได้แก่ Virtual ID card ที่จะ นำเอา Digital Identity มาสร้าง Digital Profile ของนักศึกษาอยู่บนบล็อกเชน โดยสามารถพัฒนาต่อยอดเป็น Digital Certificate เมื่อนักศึกษามีการเรียนสะสม Micro Credit ตามแนวคิดของ Modular Education  

"สำหรับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิต และ TBWG เบื้องต้นได้มีการหารือนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปรับปรุงหลักสูตร เช่น หลักสูตรการพัฒนาเกม การพัฒนาสร้างสรรค์ NFT (Non-fungible token) ในรูปแบบต่างๆ ร่วมถึงการ co-develop ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็น Validator Node หรือการสร้าง Metaverse บน xCHAIN เนื่องจาก xCHAIN เป็น Foundation ที่เชื่อมต่อกับทุกมหาวิทยาลัย การต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ จะมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์กับทุกคน โดยคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตที่ได้ลองเล่นบนสนามจริง และสามารถทำ dApp ของตัวเองได้อย่างแท้จริง" นายวรวิทย์กล่าวเสริม

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit