ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงติดตามความคืบหน้าโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์

08 Jun 2022

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงติดตามความคืบหน้าโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ณ อาคาร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงติดตามความคืบหน้าโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์

วันที่ 7 มิ.ย. 2565 เวลา 10.09 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังห้องประชุม 1 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พระราชทานพระวโรกาสให้ คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัช รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหาร และผู้อำนวยการสำนักองค์ประธาน นำนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ เฝ้า เพื่อกราบทูลรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ที่มีอายุกว่า 115 ปี บนพื้นที่ 148 ไร่ เพื่อบูรณะโบราณสถานอันเป็นสมบัติสำคัญของชาติที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม รวมถึงบทบาทการรักษาความมั่นคงของชาติในอดีต โดยบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานบูรณะอาคารต่างๆ และบริเวณ งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม งานโครงสร้าง งานระบบต่างๆ รวมทั้งงานภูมิสถาปัตย์ รวมทั้งสิ้น 58 อาคาร โดยกำหนดระยะเวลาในการบูรณะกลุ่มอาคารต่างๆ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 - สิงหาคม 2567 มีกลุ่มอาคารที่ต้องบูรณะรวม 18 อาคาร ซึ่งขณะนี้ ได้เริ่มบูรณะงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งวัชรีรมยา ซึ่งเคยเป็นที่ประทับทรงพระอักษร ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ซึ่งเคยเป็นท้องพระโรงสำหรับประกอบพระราชพิธี เป็นที่ประชุมเสือป่า รวมทั้งซ้อมและเล่นโขน ละคร ส่วนระยะที่สอง มีกลุ่มอาคารที่ต้องบูรณะอีก 40 อาคาร จะเริ่มดำเนินการเดือนมิถุนายน 2567 - มิถุนายน 2570

โอกาสนี้ มีพระดำรัสพระราชทานแก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ มีความตอนหนึ่งว่า "เนื่องจากพระราชวังสนามจันทร์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง อีกทั้ง ยังมีส่วนสำคัญด้านความมั่นคงอีกด้วย ข้าพเจ้าตระหนักถึงความสำคัญนี้ เมื่อครั้งได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 พบว่า มีอาคารบางส่วนทรุดโทรมอย่างน่าเป็นห่วง จึงเห็นสมควรให้มีการบูรณะ การที่กระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นความสำคัญ ขอให้ข้าพเจ้าเป็นประธานการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ในครั้งนี้ ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่ง เมื่อท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยรับเป็นแม่งาน ทำให้เกิดความหวังว่า จะได้มีการบูรณะอย่างถูกวิธี ทำให้พระราชวังสนามจันทร์เป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอยู่คู่บ้านคู่เมืองตลอดไป …"

สำหรับ พระราชวังสนามจันทร์ จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2450 เพื่อเป็นที่ประทับในการแปรพระราชฐานมายังเมืองนครปฐมในโอกาสที่เสด็จมาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างพระราชวังในจังหวัดนครปฐม โดยหมู่พระที่นั่ง และหมู่พระตำหนักต่างๆถูกออกแบบในสไตล์สถาปัตยกรรมไทยผสมผสานกับชาติตะวันตกอย่างวิจิตรงดงาม นอกจากนี้ พระราชวังสนามจันทร์ ยังเป็นสถานที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจของบ้านเมือง และรับรองพระราชอาคันตุกะ รวมถึงเป็นฐานที่ตั้งกองบัญชาการ และการฝึกซ้อมรบของเสือป่าเพื่อเตรียมพร้อม สำหรับป้องกันประเทศในยามคับขันอีกด้วย

พระราชวังสนามจันทร์แห่งนี้ นับเป็นสมบัติของชาติบ้านเมือง หรือสมบัติของแผ่นดินที่ตกทอดมาถึง 5 แผ่นดิน หรือ 5 รัชกาล ซึ่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในพระราชวังแห่งนี้ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ยังมิได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็คือ ความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเรื่องราวของพระองค์ อันเป็นพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ณ พระราชวังสนามจันทร์ที่เป็นประโยชน์และทรงคุณค่าอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติบ้านเมือง จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และโบราณสถานสำคัญที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยตลอดไป ตามพระประสงค์ ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ .