วว. มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ของไทยสู่ระดับสากล เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านบรรจุภัณฑ์ : 23 rd World Packaging Conference

14 Jun 2022

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย  (ศบท.) ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านบรรจุภัณฑ์ :  23 rd  World  Packaging  Conference  ระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน  2565  ณ  ไบเทค   บางนา  ในรูปแบบแบบไฮบริด  ภายใต้ Theme  "Survival & Sustainability : การสร้างความอยู่รอดและสังคมที่ยั่งยืน"  โชว์ความพร้อมประเทศไทยด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์  ในรูปแบบเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญไทย/นานาชาติ  อัพเดทเทรนด์ด้านบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบันและอนาคต  ระบุเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ของไทยสู่ระดับสากล

วว. มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ของไทยสู่ระดับสากล เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านบรรจุภัณฑ์  :  23 rd  World  Packaging  Conference

โอกาสนี้ ศ.ดร.เจ ซิงห์ President of the International Association of Packaging  Research  Institutes  (IAPRI)  ศ.ปิแอร์ ปิเอนาร์  President of the World Packaging Organisation (WPO)  มร.ทาเคฮิโระ  คาเนโกะ  Manager of the Transport Packaging Division, Japan Packaging Institute (JPI)  ดร.แรนดอล์ฟ บิวดรี  Professor  from  the  Department  of  Horticulture, Michigan  State  University และ ผู้บริหารระดับสูง วว. ร่วมเป็นเกียรติ

(13 มิ.ย. 2565/ไบเทค บางนา)   ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์   ทรงศิวิไล   ปลัดกระทรวง อว.  ประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ กล่าวว่า  นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG โมเดล ของรัฐบาลเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ สอดคล้องกับ SDGs ของสหประชาชาติ และสอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  สำหรับนโยบายด้านบรรจุภัณฑ์ของรัฐบาล มุ่งเน้นการนำแนวคิด 3R ได้แก่ Reduce การลด -ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียว Reuse-การใช้ซ้ำ ส่งเสริมให้มีการใช้ถุงพลาสติกซ้ำ และ Recycle หมุนเวียน -สนับสนุนการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ พลาสติกย่อยสลาย และบรรจุภัณฑ์สีเขียว โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ปรับกระบวนการในด้านธุรกิจ เช่น การใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก  ในการจัดประชุมนานาชาติด้านบรรจุภัณฑ์ครั้งนี้ วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สนองตอบนโยบายรัฐบาลโดยการใช้แนวทาง BCG ในการดำเนินงาน ซึ่ง ศบท. มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร รวมถึงการให้บริการทดสอบ การพัฒนางานวิจัย และการออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน

"...การประชุม 23rd  World  Packaging  Conference  , IAPRI Bangkok 2022 เป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ระดับโลกที่มาร่วมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเกี่ยวกับแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์โลก วัสดุในการผลิต คุณภาพและมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์โลก อีกทั้งเป็นการพบปะเพื่อสร้างเครือข่ายทางด้านการศึกษา ด้านงานวิจัย บุคลากรในด้านสายงานบรรจุภัณฑ์   ปัจจุบันความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ ไม่เพียงแต่ใช้ในการปกป้องคุ้มครองสินค้า แต่บรรจุภัณฑ์คุณภาพยังสามารถดึงความสนใจของผู้บริโภค สร้างโอกาสทางการตลาดให้กว้างขวางขึ้น สามารถยืดอายุในการวางสินค้า และช่วยรักษาสุขอนามัยของผู้บริโภค  

การวิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ คุณภาพ ความปลอดภัยต่อสุขภาพ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย มีความยั่งยืนทั้งด้านการนำไปใช้เชิงฟังก์ชันและการออกแบบ เพื่อสนองตอบความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภค ที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด -19 ส่งผลให้การใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากการบริโภค Online มีการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในปริมาณมากเพื่อการป้องกันการปนเปื้อน ดังนั้นบรรจุภัณฑ์สำหรับช่องทางการจำหน่ายนี้ ควรมีคุณสมบัติ ทนต่อการขนส่งที่มีระยะทางและความรุนแรงเพิ่มขึ้น   ถูกสุขอนามัย และมีรูปลักษณ์สวยงามดูดีเพื่อให้ลูกค้าเกิดความสนใจและตัดสินใจซื้อได้ง่าย และหลังสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทำให้กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เชื่อมั่นว่าในการประชุมวิชาการนี้จะช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหา และมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการ อย่างเป็นรูปธรรม..." ปลัดกระทรวง อว.  กล่าว

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ  วว.  กล่าวว่า  ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19  และเผชิญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และ "Technology Disruption" ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ความท้าทายดังกล่าวเป็นที่มาของแนวคิดในการจัดการประชุมในครั้งนี้  "Packaging for World Crisis: Survivability and Sustainability" ซึ่งผู้ปาฐกพิเศษและการจัดประชุมกลุ่ม ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการทำให้การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นไปอย่างยั่งยืน และเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัยเพื่อโลกที่ดีขึ้น โดยไฮไลต์สำคัญของการจัดงานในครั้งนี้เป็นการแสดงถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ของประเทศต่างๆ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของโลกอย่างยั่งยืน

"...เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG  Model เพื่อสร้างการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน  นโยบายด้านบรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนตามนโยบาย BCG เพื่อนำไปสู่การลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง การนำกลับมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก และการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สีเขียว  ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว  โดยเป็นเวทีในการแชร์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีล่าสุด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย บุคลากรทางการศึกษา ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านบรรจุภัณฑ์ พบปะแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือเพื่อร่วมกันสร้างความท้าทายใหม่ทางบรรจุภัณฑ์และสร้างขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อก้าวไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ ในนามของ วว. กระทรวง อว. เจ้าภาพในการจัดประชุมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเทรนด์ด้านบรรจุภัณฑ์และสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย BCG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว

อนึ่งประเทศไทยมีโอกาสจัดประชุม  IAPRI  ครั้งล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. 2008  (พ.ศ. 2551)  เป็นเวลากว่า  14  ปีแล้ว  ดังนั้นการจัดงานในช่วงวันที่ 12-15  มิถุนายน 2565  จึงเป็นโอกาสที่สมาชิกหรือผู้แทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการด้านบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก จะได้กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศไทย ตลอดจนเพื่อนบ้านในอาเซียนและเอเชียได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านบรรจุภัณฑ์กับวิทยากรที่มีชื่อเสียงและผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์จากทั่วโลก และช่วยส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

International  Association  of  Packaging  Research  Institutes  (IAPRI)  เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศ มุ่งส่งเสริมการวิจัยและการศึกษาด้านบรรจุภัณฑ์  เพื่อความร่วมมือสื่อสารและพัฒนาแนวคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์   ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา แก้ไขปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์  โดยมีเครือข่ายทั่วโลก  ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า  90 องค์กรใน  29 ประเทศ ทั้งนี้ วว. โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก  IAPRI  มาตั้งแต่ พ.ศ. 2536  ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของชาติด้านการบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร ครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์  บริการทดสอบและให้คำปรึกษา ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบรรจุภัณฑ์ของประเทศ

ทั้งนี้สมาชิก  IAPRI  ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา การประชุมวิชาการนานาชาติที่ผ่านมาจะจัดในแถบยุโรปและอเมริกาเป็นหลัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในการเข้าร่วมประชุม  ส่งผลให้เป็นอุปสรรคและขาดโอกาสให้กับนักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องในวงการบรรจุภัณฑ์ของไทยเป็นอย่างมาก และที่สำคัญผู้จัดการประชุมจะต้องเป็นสมาชิก IAPRI เท่านั้น  ดังนั้น  วว. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการบรรจุภัณฑ์ของประเทศ นอกจากการเสริมแกร่ง SMEs และภาคอุตสาหกรรมแล้ว  ยังต้องการเสริมความเข้มแข็งด้านวิชาการและงานวิจัยเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ของประเทศ  การนำงานนี้เข้ามาในประเทศไทยจึงมุ่งหวังให้เป็นเวทีของนักวิชาการ  นักวิจัย  ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้อง  นอกจากจะ ได้อัพเดตแนวโน้มเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์แล้ว  ยังมีโอกาสสร้างเครือข่ายด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อพัฒนาวงการบรรจุภัณฑ์และต้นน้ำที่เกี่ยวข้องร่วมกัน   โดยมีหัวข้อการบรรยายพิเศษที่น่าสนใจ ได้แก่  Trends and Innovation on Sustainable Packaging, Impact of Chain of Custody on Packaging Verification and Traceability,  The Future of  Fruit & Vegetable  Packaging เป็นต้น  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย วว. เลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 02579 1121 ต่อ 3101, 3208, 081 702 8377 โทรสาร 0 2579 7573 เว็บไซต์ : iapribangkok.com E-mail : [email protected]

วว. มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ของไทยสู่ระดับสากล เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านบรรจุภัณฑ์  :  23 rd  World  Packaging  Conference