วช. หนุน มศว. พัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน

14 Jun 2022

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการต่อยอดนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพ : การยกระดับและพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน บ้านใหม่พัฒนา อำเอภูเพียง จังหวัดน่าน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานการตรวจเยี่ยม และมี รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมด้วยคณะเครือข่ายสัมมาชีพให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565

วช. หนุน มศว. พัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ให้การสนับสนุน มศว. ในการการจัดการความรู้จากเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนที่จะนำไปสู่การต่อยอดยกระดับและพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนนั้น อาศัยองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานวิจัยโครงการนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน: การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน คือ รูปแบบนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน และแนวทางการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมสัมมาชีพชุมชน ร่วมกับการใช้แนวคิดการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิจัยที่สำคัญ ตั้งแต่การเรียนรู้ การนำมาพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรมหรือกระบวนการใหม่ และนำไปดำเนินการหรือปฏิบัติให้เกิดความยั่งยืน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ต่อทั้งตนเองและผู้อื่น ภายใต้หลักคิด คือ 1) การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนเป็นเจ้าของ ประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์ 2) ชุมชนมีความสมัครใจในการพัฒนาตนเอง 3) กระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง 4) ความยืดหยุ่น สอดคล้อง เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ชุมชน 5) ความร่วมมือและยอมรับเป็นเครื่องมือเชื่อมประสานบูรณาการงานของภาคีการพัฒนา

นอกจากนี้ยังอาศัยกรอบแนวคิดการประเมินมาตรฐานต่าง ๆ ด้านอื่นประกอบด้วย รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มศว. กล่าวว่า พื้นที่และกลุ่มเป้าหมายช่วงที่ 1 คือ กลุ่มอาชีพทอผ้าไทเลย บ้านก้างปลา จังหวัดเลย กลุ่มอาชีพท่าผาเซรามิก จังหวัดลำปาง และกลุ่มอาชีพชุมชนดงตะขบ จังหวัดพิจิตร โดยเป็นการลงพื้นที่คืนข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินการวิจัยของโครงการนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน: การยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้เครือข่ายสัมมาชีพนำองค์ความรู้ที่ได้จากการสังเคราะห์ข้อมูลจากพื้นที่ต้นแบบทั้ง 3 พื้นที่ไปใช้ประโยชน์และยกระดับการดำเนินงานของกลุ่มเครือข่ายให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนของกลุ่มให้ดียิ่งขึ้น พื้นที่และกลุ่มเป้าหมายช่วงที่ 2 แบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ คือ จังหวัดน่าน จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพัทลุง และจังหวัดบุรีรัมย์ โดยอาศัยหลักเกณฑ์สำคัญจากการคัดเลือกต้นแบบสัมมาชีพชุมชนตัวอย่าง คือ หลัก 3 มี ได้แก่ มีสัมมาชีพ มีความสัมพันธ์ที่ดี และมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม และหลัก 2 ไม่ ได้แก่ ไม่ติดยาเสพติด และไม่มีหนี้นอกระบบ มาใช้เป็นแนวทางการพิจารณาร่วมกับเกณฑ์การเคยได้รับรางวัลที่เกี่ยวกับการเป็นชุมชนต้นแบบ ผลการดำเนินงานกระบวนการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและยกร่างคู่มือการประเมินมาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนจากพื้นที่ตั้งต้น 3 จังหวัด คือ ลำปาง เลย และพิจิตร โดยแบ่งกรอบมาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน ออกเป็น 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1) มาตรฐานด้านชุมชนและการเรียนรู้ 2) มาตรฐานด้านเครือข่ายและนวัตกรรม 3) มาตรฐานด้านองค์กรชุมชนและปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน 4) มาตรฐานด้านผู้นำเครือข่ายและการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ ทางคณะผู้ตรวจเยี่ยมได้เข้าสักการะและรับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพ จากพระชยานันทมุนี, ผศ.ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน และเจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง อีกด้วย สำหรับโครงการต่อยอดนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพ : การยกระดับและพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน จัดขึ้นเพื่อให้เครือข่ายพื้นที่เกิดการเรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับและการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และหน่วยงานสนับสนุนการขยายรูปแบบนวัตกรรมเครือข่ายสัมมาชีพและการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน ให้เกิดการยกระดับการทำงานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนและได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและเกิดการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและยอมรับร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

วช. หนุน มศว. พัฒนามาตรฐานเครือข่ายสัมมาชีพชุมชน