สศก. เร่งเครื่อง ลุยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ ระยะ 5 ปี ให้สมบูรณ์ ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2570

22 Jun 2022

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 โดย สศก. เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และผู้แทนเกษตรกร ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยได้รับเกียรติจาก นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ณ ห้องประชุมศรีปลั่ง ชั้น 8 อาคารวิสัยทัศน์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เร่งเครื่อง ลุยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ ระยะ 5 ปี ให้สมบูรณ์  ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2570

การสัมมนาครั้งนี้ มีการนำเสนอผลสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560 - 2565 และ
ร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 โดย นางสาวกัลยา สงรอด ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สศก. เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งผลการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของประเทศได้รวม 1,515,132 ไร่ มีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ จำนวน 95,752 ราย สร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ได้รวม 5,345.33 ล้านบาท โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด มะพร้าวอ่อน น้ำกะทิ และใบชาเขียว

พร้อมนี้ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร ยังได้นำเสนอองค์ประกอบในร่างแผนปฏิบัติการ ด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 ที่จะใช้ขับเคลื่อนในระยะต่อไป โดยเน้นความสอดคล้องกับแผนทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยร่างแผนปฏิบัติการฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียน ในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่า บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2570" โดยมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน ในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เป็น 2.0 ล้านไร่ ในปี 2570 มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (PGS/ มกษ. 9000/มาตรฐานสากล) ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนรายในปี 2570 และมีสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โดยกำหนดประเด็นการพัฒนาเป็น 4 ประเด็น ซึ่งในการระดมความคิดเห็นถึงประเด็นการพัฒนาได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการและเปิดเวทีรับฟังความเห็น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมนำเสนอประเด็นการพัฒนาภายใต้ร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566 - 2570 ประกอบด้วย

ดร.ชมชวน บุญระหงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ นำเสนอประเด็นการพัฒนาที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) ส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และ (2) พัฒนาและบริหารจัดการฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) จำนวนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่องต่อปี และ (2) ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1 ระบบ ในปี 2570 ซึ่งวิทยากรมีความเห็นเพิ่มเติม ให้เน้นการส่งเสริมวิจัยแบบมีส่วนร่วม พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรม

นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นำเสนอประเด็นการพัฒนาที่ 2 พัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (2) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิต และการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ และ (3) บริหารจัดการปัจจัยการผลิตโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) จำนวนเกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี (2) จำนวนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบ วงจรใน 18 กลุ่มจังหวัด อย่างน้อยกลุ่มจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในปี 2570 และ (3) จำนวนสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยเห็นว่าควรให้ความสำคัญเรื่องการอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และประโยชน์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ผ่านระบบ Online และสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up มุ่งสู่ธุรกิจการแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นำเสนอ ประเด็นการพัฒนาที่ 3 ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) ยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ และ (2) ยกระดับการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ของไทยเท่าเทียมกับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ภายในปี 2570 (2) จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองระบบงานตามระบบสากล เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง ภายในปี 2570 และ (3) จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองของไทยขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อหน่วยตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์กับประเทศคู่ค้าหลักอย่างน้อย 2 แห่ง ภายในปี 2570 ทั้งนี้ เห็นควรเน้นความสำคัญของการขับเคลื่อนขยายผลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) โดยได้จัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงการส่งเสริมระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยเทียบเคียงมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานอาเซียน (ASOA) เป็นต้น

นายชฤทธิพร เม้งเกร็ด ผู้จัดการสามพรานโมเดล นำเสนอ ประเด็นการพัฒนาที่ 4 พัฒนาการตลาด และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย 2 ประเด็นย่อย ได้แก่ (1) พัฒนาการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ และ (2) สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายประเด็นการพัฒนา 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และ (2) จำนวนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับตลาด Online เพื่อนำเสนอสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการผลิตของเกษตรกรได้

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นในประเด็นที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ควรเพิ่มแนวทางในการเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างกลไกและกระบวนการที่สามารถนำความรู้หรืองานวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติ และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ (2) ด้านการผลิต ควรเพิ่มแนวการลด/สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับการค้นหาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ (3) ด้านมาตรฐาน ควรเพิ่มแนวทางการส่งเสริมการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร โดยอ้างอิงมาตรฐาน Organic Thailand หรือมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป และ (4) ด้านตลาด ควรเพิ่มแนวทางส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ อาทิ BIOFACH Southeast Asia หรืองานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับประเทศของไทย อาทิ Organic and Natural Expo รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ผ่านทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ สศก. จะนำข้อมูลที่ได้จากการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมสัมมนา ไปใช้ประกอบการปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ ให้มีความครอบคลุมและครบถ้วนยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอแผนฉบับสมบูรณ์ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทราบ รวมถึงนำแผนเข้าสู่ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) พร้อมทั้งประกาศใช้ต่อไป

สศก. เร่งเครื่อง ลุยแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ ระยะ 5 ปี ให้สมบูรณ์  ดันไทยเป็นผู้นำอาเซียนเกษตรอินทรีย์ ภายในปี 2570