วิศวฯ จุฬาฯ บุกเบิกใช้รังสีแกมมา ตรวจสุขภาพไม้ใหญ่ ค้นหาโพรงภายใน ป้องกันอุบัติเหตุต้นไม้โค่นล้ม

29 Jun 2022

อาจารย์วิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวฯ จุฬาฯ พัฒนาอุปกรณ์สแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมา ตรวจความหนาแน่นของเนื้อไม้ วัดความกลวงภายในลำต้น ป้องกันอุบัติเหตุจากต้นไม้โค่นล้ม ปลอดภัยในการใช้งาน อนุรักษ์ไม้ใหญ่ให้เมือง

วิศวฯ จุฬาฯ บุกเบิกใช้รังสีแกมมา ตรวจสุขภาพไม้ใหญ่ ค้นหาโพรงภายใน ป้องกันอุบัติเหตุต้นไม้โค่นล้ม

ไม้ใหญ่ที่ยืนต้นเด่นเป็นสง่า มีกิ่งก้านสาขาแผ่ขยายให้ร่มเงา อาจดูว่าแข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่ใครจะรู้ว่าภายในลำต้นอาจจะ "กลวง" หรือ "เป็นโพรง" ซึ่งจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุไม้ล้มทับผู้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังที่เคยเกิดเหตุต้นหางนกยูงฝรั่งโค่นล้มในจุฬาฯ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

อุบัติเหตุในครั้งนั้นเป็นแรงกระตุ้นให้รองศาสตราจารย์นเรศร์ จันทน์ขาว และ อาจารย์ ดร.มนัสวี เลาะวิธี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาอุปกรณ์สำหรับสแกนต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมา (Gamma Ray) เพื่อสแกนตรวจสุขภาพของต้นไม้ วัดความหนาแน่นของเนื้อไม้ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

"รังสีแกมมาเป็นรังสีที่สามารถสแกนทะลุลำต้นของต้นไม้ได้ เปรียบได้กับการตรวจเอกซเรย์ร่างกายคนเราในโรงพยาบาล อุปกรณ์นี้จะช่วยตรวจสแกนสุขภาพของต้นไม้ว่าแข็งแรงดี มีโพรงที่เกิดจากการผุของเนื้อไม้หรือจากการกัดกินของปลวกหรือไม่ มีมากน้อยเพียงใด จริงๆ แล้ว รังสีชนิดอื่น อย่างรังสีเอกซเรย์และรังสีนิวตรอนก็สามารถใช้สแกนต้นไม้ได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นรังสีเอกซ์ต้องใช้เครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งอาจไม่สะดวกในการใช้งาน" รศ.นเรศร์ กล่าว

รังสีแกมมาส่องสุขภาพต้นไม้ ปลอดภัยกับผู้คน
รศ.นเรศร์ กล่าวว่าอุปกรณ์สแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมาได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้แสดงผลการตรวจที่แม่นยำ รวดเร็ว โดยไม่ต้องทำลายต้นไม้ ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่ให้รังสีแกมมา หัววัดรังสีที่มีความไวสูงกว่าหัววัดรังสีธรรมดา 3 - 4 เท่า อุปกรณ์วัดรังสีซึ่งต่อกับคอมพิวเตอร์ ระบบขับเคลื่อนสายพานที่ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล ติดตั้งบนรถยกไฮดรอลิก

"อุปกรณ์สแกนด้วยรังสีแกมมานี้ใช้หัววัดรังสีที่ใช้มีความไวในการใช้งานมากกว่าปกติ 3 - 4 เท่า ทำให้ความเข้มข้นของรังสีต่ำ จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน และตรวจสอบสุขภาพต้นไม้ได้ผลถูกต้องและรวดเร็วในเวลาเพียง 10 นาทีสำหรับการสแกนต้นไม้หนึ่งตำแหน่ง หากต้องการทราบตำแหน่งและขนาดของโพรงที่ละเอียดจะต้องสแกนต้นไม้ในหลายมุม รวมทั้งมีการสแกนซ้ำเพื่อยืนยันผลการตรวจสอบต้นไม้"

ในการปฏิบัติงานตรวจสุขภาพต้นไม้ พื้นที่บริเวณที่จะทำการสแกนต้นไม้จะต้องเป็นพื้นเรียบและมีบริเวณพอสมควร เพื่อให้รถโฟร์คลิฟท์หรือรถไฮดรอลิกสามารถเข้าไปได้สะดวก และเมื่อตรวจพบว่าลำต้นกลวงก็จะมีการจัดทำอุปกรณ์ค้ำยันต้นไม้เพิ่มความแข็งแรง หรือมีการฉีดซีเมนต์เข้าไปบริเวณโพรงต้นไม้

ภารกิจสแกนสุขภาพต้นไม้เพื่อชาวจุฬาฯ และสังคม
ตั้งแต่ปี 2562 ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มใช้อุปกรณ์สำหรับสแกนต้นไม้โดยใช้รังสีแกมมาตรวจสุขภาพต้นไม้ ในโครงการ Chula Big Tree โดยเริ่มจากต้นจามจุรีทรงปลูกจำนวน 5 ต้น ซึ่งมีอายุกว่า 60 ปีแต่เป็นที่เศร้าสลดที่ต้นจามจุรีทรงปลูกต้นที่ 5 โค่นล้มไปก่อนที่จะทำการตรวจสอบเนื่องจากพายุฝน ผลการตรวจสอบพบว่ามี 2 ต้นที่มีโพรงขนาดใหญ่ แต่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการใช้เหล็กค้ำยันต้นจามจุรีทรงปลูกทั้ง 4 ต้นไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ภารกิจตรวจสุขภาพต้นไม้ก็ยังคงเดินหน้าจนทุกวันนี้ โดยได้สแกนต้นจามจุรีบริเวณด้านข้างอาคารมหาจุฬาลงกรณ์จำนวน 4 ต้น รวมทั้งบริเวณลานเกียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคณะอื่นๆ รอบรั้วจามจุรีที่มีไม้ใหญ่มากมาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่นิสิตและบุคลากรชาวจุฬาฯ

นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังได้รับการติดต่อจากหน่วยงานต่างๆ ให้ออกไปสแกนต้นไม้ภายนอกมหาวิทยาลัย อันเป็นภารกิจการให้บริการวิชาการแก่สังคมที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ทำการสแกนต้นจามจุรี 3 ต้นขนาดลำต้น 80 - 95 ซม.ที่ริมคลองในซอยสมคิด ระหว่างเซ็นทรัล เอ็มบาสซีและเซ็นทรัลชิดลม ซึ่งจะมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และมีการสร้างสะพานคนเดินข้ามคลองแสนแสบ แต่เนื่องจากพื้นที่แคบจึงต้องมีการออกแบบเครื่องสแกนต้นไม้ใหม่ให้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา โดยใช้เวลาในการผลิตทั้งสิ้นเพียง 5 วัน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าต้นไม้ทั้งสามต้นมีโพรงขนาดใหญ่อยู่ภายใน

"ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ยังใช้อุปกรณ์สแกนรังสีแกมมาพลังงานต่ำเพื่อตรวจสอบรอยแตกและโพรงเพื่อประเมินความแข็งแรงของเสาไม้สักไทยจำนวน 140 ต้นในการสร้างศาลาแก้วซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "สัปปายะสภาสถาน" อาคารรัฐสภาใหม่ ดำเนินการโดย ผศ.จเด็จ เย็นใจ ในอนาคตจะพัฒนาเครื่องมือให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น มีระบบอัตโนมัติที่สามารถมองเห็นเป็นภาพตัดขวางภายในต้นไม้ได้ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับ" รศ.นเรศร์ กล่าวทิ้งท้าย

หน่วยงานที่สนใจการสแกนต้นไม้ด้วยรังสีแกมมา สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โทร. 0-2218-6781
Email: [email protected]
Facebook: https://m.facebook.com/NuclearChulaEngineering/

วิศวฯ จุฬาฯ บุกเบิกใช้รังสีแกมมา ตรวจสุขภาพไม้ใหญ่ ค้นหาโพรงภายใน ป้องกันอุบัติเหตุต้นไม้โค่นล้ม