IRPC ตอกย้ำเป้าหมายก้าวสู่องค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดินเกมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ สร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ เร่งลดคาร์บอน

07 Jul 2022
IRPC ตอกย้ำเจตนารมณ์ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero เผยวางแผนไว้ 3 ขั้นตอน ชี้ต้องเร่งเดินหน้าลดคาร์บอนให้เร็วแข่งกับเวลา เชื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น มองความร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมใช้และแชร์องค์ความรู้ ร่วมสนับสนุนโครงการ "Decarbonize Thailand Startup Sandbox" หวังได้ไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากสตาร์ทอัพมาตอบโจทย์เรื่องลดคาร์บอน
IRPC ตอกย้ำเป้าหมายก้าวสู่องค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เดินเกมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ สร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ เร่งลดคาร์บอน

นายพยม บุญยัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า IRPC ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว โดยเชื่อว่าธุรกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สามารถเติบโตควบคู่กันไปได้ ซึ่งในฐานะบริษัทพลังงานและปิโตรเคมี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในการกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ได้มีการปล่อยคาร์บอนสู่โลกใบนี้ จึงพร้อมให้การสนับสนุนสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของภาคธุรกิจ ผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ในปี 2065 โดยIRPC วางแผนก้าวสู่ net zero ไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้ ภายในปี 2030 ลดการปล่อยคาร์บอนลง 20% จากที่ปล่อยในปัจจุบัน หรือประมาณ 0.83 ล้านตันต่อปี จากนั้นมุ่งสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และไปให้ถึง net zero ในปี 2060 "การปล่อยคาร์บอนส่งผลกระทบทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเรามุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ก็ต้องดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งทุกวันนี้ทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะนักลงทุนจะเน้นเรื่องของ ESG เป็นอย่างมาก หากธุรกิจไม่อยู่ในกระบวนการเหล่านี้ นักลงทุนจะไม่อยากเข้ามาลงทุนด้วย เพราะมองว่าไม่มีความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เป็นเทรนด์ของโลกที่ผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการ หรือสินค้าของผู้ผลิตที่ดูแลโลกและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะนำมาเป็นกำแพงทางการค้า" นายพยม กล่าวทั้งนี้ IRPC ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านกลยุทธ์ความยั่งยืน 3C ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change), การบริหารจัดการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการสร้างคุณค่าเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน (Creating Social Value) โดยมองว่าการสร้างสมดุลเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา มีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้านนายอนุชา สมจิตรชอบ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของ IRPC ในการเข้ามาร่วมสนับสนุน "Decarbonize Thailand Startup Sandbox" หรือ DTS ว่า IRPC ต้องการยืนยันเจตนารมณ์การขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการดำเนินการพร้อมมุ่งไปสู่ net zero emission รวมทั้งร่วมขับเคลื่อนสตาร์ทอัพและแสวงหาธุรกิจใหม่ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (New S-Curve) เกี่ยวกับการลดคาร์บอน เสริมสร้างประสบการณ์ให้สตาร์ทอัพ เพื่อเข้ามาสู่ระบบนิเวศ (Ecosystem)เพราะแม้ว่า IRPC จะผลิตได้เองแต่ก็ต้องมีการนำเข้ามาด้วย โดยมองว่าคนรุ่นใหม่จะมาช่วยเปิดมุมมองใหม่ ทำให้องค์กรได้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงวิธีการใหม่ ๆ ในการนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอน ท้ายที่สุด IRPC คิดว่าการทำงานที่มีความร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อผลักดันเรื่องของการลดคาร์บอนให้เร็วที่สุด "เรายึดมั่นในหลักการที่จะดูแลสังคมและชุมชมอย่างยั่งยืน ซึ่งในวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือภาวะโลกร้อน เข้ามาอยู่ในบ้านเราแล้ว ไม่ใช่แค่มาจ่อหน้าประตู เราจึงรอไม่ได้ การแก้ไขปัญหาต้องแข่งกับเวลา ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดย IRPC เป็นองค์กรที่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งบนโลก พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการใช้และแชร์ความรู้ รวมถึงประสบการณ์ที่มีประโยชน์กับทุกคน ซึ่งความร่วมมือที่ชัดเจนจะทำให้การแก้ปัญหารวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมองว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการตอบโจทย์มุ่งไปสู่ net zero ได้เร็วขึ้น" นายอนุชา กล่าวผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ไออาร์พีซี กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า "ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่อันดับแรกเราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน แล้วค่อยไปเปลี่ยนคนอื่น โดยลงมือทำด้วยตัวเองก่อนจะค่อย ๆ ขยายออกไป สิ่งที่ IRPC มองคือ เราทำตัวเองให้กระชับที่สุดในการทำธุรกิจและการปล่อยคาร์บอน วันนี้เรามาเพื่อบอกว่าภายใต้นโยบายของประเทศนั้น เราเป็นหนึ่งในองค์กรที่จะทำเรื่องของสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่ง และหากสตาร์ทอัพมีไอเดียหรือนวัตกรรมที่นำไปใช้ได้ นั่นคือความคาดหวังที่เราอยากได้ เราอยากได้ไอเดียใหม่เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ ทำให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์"