มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้านการแพทย์

11 Jul 2022

จากคำแนะนำและการสนับสนุนของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ล่าสุดมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และโภชนาการในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้านการแพทย์

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จะสนับสนุนเงินจำนวนกว่า 3 ล้านบาท ในการฝึกอบรมแก่ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยมหิดลด้านเทคโนโลยี การแพทย์สุขภาพของมารดา และโภชนาการในประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ และมหาวิทยาลัยยังได้ดำเนินโครงการร่วมกันอีก 2 โครงการ คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการใช้องค์ความรู้ด้านจีโนมหรือพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต และการสร้างขีดความสามารถในการตรวจวัดคุณภาพทางโภชนาการ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการสนับสนุนโดยรวมจากมูลนิธิด้วยเงินจำนวนกว่า 78 ล้านบาท (2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีที่ผ่านมานี้

สืบเนื่องจากการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยมหิดลในการเสริมสร้างศักยภาพสำหรับศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในเดือนสิงหาคม พ. ศ. 2564 โดยโครงการปัจจุบันภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลไทยที่บริหารความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ

นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กล่าวว่า "ด้วยภารกิจในการเสริมสร้างความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการการพัฒนา ให้มีส่วนในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้กำหนดความสำคัญของการดำเนินงานความร่วมมือให้เกิดความมั่นคงใน 4 ด้าน ได้แก่ การจ้างงาน อาหาร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ตลอดจนสุขภาพ

บันทึกความเข้าใจ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหนึ่งในโครงการริเริ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อนโยบายความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยเน้นการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งมอบการบริการที่ดียิ่งขึ้นแก่คนไทยและส่งต่อความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ"

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศและมูลนิธิฯ มีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน และเล็งเห็นว่าความร่วมมือครั้งล่าสุดร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จะผลักดันโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในด้านสาธารณสุขและโภชนาการ เพื่อขยายผลลัพธ์ของภารกิจ ร่วมในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค

เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือครั้งใหม่นี้ ดีพาลี คานนา (Deepali Khanna) รองประธานประจำภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ให้ความเห็นว่า "ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลหลายครั้ง เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่องในด้านการวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ในเอเชีย พร้อมนี้ด้วยความพร้อมด้านการลงทุน ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศไทย เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหิดลและกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการขยายงานเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งและสร้างศูนย์ความเป็นเลิศในสถาบันการศึกษา"

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยมหิดลมีความมุ่งมั่นในการสานต่อการพัฒนาความรู้ร่วมกับการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เราได้ร่วมเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคและระดับโลกในการส่งเสริมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในด้านโรคระบาด การบริการด้านสุขภาพและการพัฒนาทักษะ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอาหารและโภชนาการ และการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น โดยมหาวิทยาลัยมหิดลยังคงใช้ทรัพยากรหลักของเราอย่างต่อเนื่องเพื่อประยุกต์ความรู้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ"

มูลนิธิฯมีสองโครงการด้านสาธารณสุขและโภชนาการที่ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่งกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมูลนิธิฯได้มอบเงินจำนวน 42 ล้านบาท (1.2 ล้านดอลลาร์) แก่หน่วยจีโนมและเวชศาสตร์วิวัฒนาการ (Genomics and Evolutionary Medicine Unit: GEM) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2564 ผ่าน Pandemic Preventive Institute ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาวิธีการรับมือต่อโรคระบาดด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี ส่งผลให้ทีมสืบสวนจีโนมของมหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จในการลดระยะเวลาของการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากมากกว่าหนึ่งเดือนเหลือน้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ และทีมยังได้เพิ่มการสนับสนุนไปยังทีมสืบสวนจีโนมในอาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการตรวจจับและรับมือกับเชื้อโควิด-19 ภัยคุกคามจากไวรัสอื่นๆ และการระบาดใหญ่ของภูมิภาค

นอกจากโครงการข้างต้นมหาวิทยาลัยมหิดลยังทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ เพื่อต่อสู้กับภาวะทุพโภชนาการ (ทั้งภาวะโภชนาการต่ำและภาวะโภชนาการเกิน) ในประเทศในซีกโลกใต้ โดยใช้มาตรฐาน Global Diet Quality Score (GDQS) เพื่อทำความเข้าใจคุณภาพของอาหารในพื้นที่นั้นๆ โดยเงินทุนจำนวน 17 ล้านบาท (500,000 เหรียญสหรัฐ) จะช่วยให้มหาวิทยาลัยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการในการสำรวจประชากรจำนวนมาก โดยใช้มาตรฐาน GDQS เพื่อเพิ่มคุณภาพของอาหาร และเป็นตัวบ่งชี้ทางโภชนาการของประชากรอีกด้วย