MICRO แย้มดีมานด์ครึ่งปีหลังโตรับไฮซีซัน รุกสินเชื่อบุคคลเสริมพอร์ตรายได้-กำไร แข็งแกร่งในอนาคต

29 Aug 2022

MICRO แย้มภาพรวมครึ่งหลังปี 2565 เติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก รับยอดสินเชื่อใหม่เติบโต ไฮซีซันธุรกิจช่วงไตรมาส 4 หนุนดีมานด์ใช้รถบรรทุกมือสองยังขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมเดินเครื่องสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ วางเป้าพอร์ตคงค้างแตะ 400-600 ล้านบาทในปีแรก และเตรียมกดปุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทมีทะเบียนรถและไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เสริมพอร์ตรายได้ให้แข็งแกร่งในอนาคต สิ้นปีนี้คาดพอร์ตสินเชื่อคงค้างรวมแตะ 5,000 ล้านบาท ลั่นคุมเข้ม NPL ไม่ให้เกิน 3%

MICRO แย้มดีมานด์ครึ่งปีหลังโตรับไฮซีซัน รุกสินเชื่อบุคคลเสริมพอร์ตรายได้-กำไร แข็งแกร่งในอนาคต

นายวิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง และสินเชื่อประเภทอื่นที่มีรถบรรทุกมือสองเป็นหลักประกัน เปิดเผยถึง ภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังปี 2565 มองว่ามีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีกว่าครึ่งปีแรก และคาดว่าจะดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากเข้าสู่ช่วงไฮซีซันของธุรกิจ ความต้องการใช้งานรถบรรทุกมือสองเพื่อการขนส่งในอุตสาหกรรมต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้คาดว่าธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสองจะมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ขยายตัว ประกอบกับการเดินหน้าต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้านการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างฐานรายได้และกำไรในอนาคต

โดยมีบริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต เพื่อช่วยสนับสนุนแผนกลยุทธ์หลักของบริษัท เป็นการส่งเสริมและเชื่อมโยงทุก ๆ กลุ่มงานให้สามารถพัฒนาร่วมกันได้ ช่วยต่อยอดการเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับรถบรรทุกมือสองแบบครบวงจร ถือเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เกิดจากการผนึกพลังระหว่างบริษัทและนำไปสู่ระบบนิเวศธุรกิจที่สมบูรณ์ในอนาคต

สำหรับธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ภายใต้การบริหารของ "บริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด (MPLUS)" เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เบื้องต้นวางเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อดังกล่าวจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 400-600 ล้านบาท ทั้งนี้ มองว่าความต้องการใช้งานรถจักรยานยนต์ยังมีอยู่อีกมากโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีการใช้จักรยานยนต์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในปี 2565 มีการคาดการณ์ว่าการผลิตจะกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ 1.7-1.8 ล้านคัน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความสนใจที่จะขยายการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้บริษัท ไมโคร ฟิน จำกัด (MFIN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ยื่นขอไลเซนส์กับธนาคารแห่งประเทศเทศไทย (ธปท.) ซึ่งหากธปท.พิจารณาภายใน 60 วันทำการ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติไลเซนส์ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังคงเป็นฐานลูกค้าเดิมของ MICRO ที่มี เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการเงินหมุนเวียนในธุรกิจ และมองว่าช่วยป้องกันความเสี่ยงการเกิด NPL ได้อีกด้วย

สำหรับเป้าหมายยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 2,600 - 2,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินเชื่อรถบรรทุกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายสาขาและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ และจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้น มีการคาดการณ์เติบโตของพอร์ตสินเชื่อไว้ไม่ต่ำกว่า 30% ยอดสินเชื่อคงค้างในพอร์ตจะแตะ 5,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน บริษัทวางเป้าหมายบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เฉลี่ยให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 3% ต่อไป

"ภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มองว่ายังคงดำเนินได้ตามเป้าหมาย และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 รวมทั้งรับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศคาดท่องเที่ยวหนุนความต้องการบริโภคภายในประเทศขยายตัวขึ้น ผู้ประกอบการมีความต้องการใช้งานรถบรรทุกโดยเฉพาะรถมือสองที่เพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2-3 จะเป็นช่วงโลว์ซีซันของรถบรรทุกมือสอง เนื่องจากเป็นฤดูฝน และสถานการณ์เศรษฐกิจจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อ MICRO ค่อนข้างเยอะ ทำให้ไตรมาส 3 มีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เดิมในช่วงต้นปีตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อไว้ 3,000 ล้านบาท ก็มีการปรับลงมาเล็กน้อยจากช่วงที่ผ่านมา โดยอาจจะลงมาอยู่ที่ 2,600 - 2,800 ล้านบาท หนุนพอร์ตสินเชื่อคงค้างเฉียด 5,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นไปตามแผนที่เราตั้งเป้าไว้โต 30% อย่างไรก็ดี เราได้กำหนดแนวทางการคุมคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้น ดังนั้นช่วงไตรมาส 3 ตัวปริมาณสินเชื่อคาดว่าน่าจะลดลง อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุม เพราะด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ได้ฟื้นตัวดีนัก ภาวะเงินเฟ้อ อาจทำให้กำลังการใช้จ่ายและการชำระหนี้ลดลง แต่ MICRO ยังคงมุ่งเน้นบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ดีได้" นายวิศาลท์ กล่าว

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2565 บริษัทฯ มีการวางแผนขยายสาขาใหม่ไว้ 6-8 สาขา เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการสินเชื่อกับลูกค้า โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 บริษัทได้มีการเปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 6 สาขา ส่งผลให้ปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 25 สาขา ให้ครอบคลุมหัวเมือง ในภูมิภาคสำคัญ อย่างไรก็ดี การขยายฐานลูกค้าบริษัทยังคงมุ่งเน้นในพื้นที่เป้าหมายที่มีผู้ประกอบการขายรถบรรทุกมือสอง และพื้นที่ที่มีการขยายตัวสูงของภาคอุตสาหกรรมขนส่ง และก่อสร้าง คือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคเหนือ

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูงและมีความผันผวนพอสมควร บริษัทฯ จึงมีการปรับแผนเล็กน้อย ทั้งในเรื่องการปล่อยสินเชื่อและการเปิดสาขา โดยในปีนี้อาจชะลอการเปิดสาขา โดยต้องดูสถานการณ์ในไตรมาส 3 ว่าราคาน้ำมันปรับลดลงหรือไม่ รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เนื่องจากลูกค้าหลักของ MICRO เป็นลูกค้ารายย่อยเป็นส่วนค่อนข้างมาก ซึ่งหากภาพรวมของสถานการณ์กลับมาดีได้ ในช่วงไตรมาส 4 อาจมีการเปิดสาขาเพิ่มเติม

ขณะที่ผลประกอบการในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทมีรายได้รวม 400.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111.99 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.81 ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อบริษัท และรายได้จากค่าบริการและค่าธรรมเนียมจากประกันรถและประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากยอดปล่อยสินเชื่อที่เติบโตขึ้น มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 67.52 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.69 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่กระทบต่อรายได้ของลูกค้าค่อนข้างเยอะ ส่งผลต่อคุณภาพหนี้ การตัดหนี้สูญ และการยึดรถที่สูงมากขึ้นมากกว่าปกติ ภาพรวมทั้งหมดทำให้ต้นทุนด้านเครดิตคอสต์สูงขึ้น