ม.มหิดล ฉีกแนวบ่มเพาะนักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ เสริมฐานทักษะผู้ประกอบการให้นักศึกษาผ่านโครงการ "Plantbiz" บูรณาการองค์ความรู้เรื่องพืชสู่เชิงพาณิชย์

29 Aug 2022

วิชาพฤกษศาสตร์ ในโลกยุคใหม่ไม่ใช่การเรียนรู้เพียงเพื่อค้นพบพืชชนิดใหม่ แต่คือ "ประตู" สู่การบูรณาการองค์ความรู้เรื่องพืชเพื่อประโยชน์สู่โลกกว้าง เสริมด้วยทักษะเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการแห่งโลกในศตวรรษที่21

ม.มหิดล ฉีกแนวบ่มเพาะนักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ เสริมฐานทักษะผู้ประกอบการให้นักศึกษาผ่านโครงการ "Plantbiz" บูรณาการองค์ความรู้เรื่องพืชสู่เชิงพาณิชย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวในฐานะหนึ่งในผู้ริเริ่ม "Plantbiz" ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบ่มเพาะนักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ โดยเสริมทักษะพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ให้กับนักศึกษา สู่การนำองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ไปบูรณาการให้เกิดประโยชน์ต่อไปในวงกว้าง

ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักศึกษาภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทางภาควิชาฯ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ"Plantbiz" เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ก่อนนำไปต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านการเชื่อมโยงโดย หน่วย Green Solution for Future Living ของภาควิชาฯ

หนึ่งในผลงานที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคภูมิใจในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ได้แก่ นวัตกรรมปิดผมขาวจากใบเทียนกิ่ง ผลงานโดยกลุ่มนักศึกษาสตาร์ทอัพ "Colorganic" ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้สามารถคว้ารางวัลจากการแข่งขันโครงการ IDE Thailand 2022 ไปได้อย่างภาคภูมิ และในขณะนี้กำลังเข้าร่วมในการแข่งขันโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup 2022)

"Colorganic" เป็นทีมที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล ทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา นำทีมโดย นางสาวกชกรผ่องใส นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นางสาวชรนันท์ บวรพงษ์สกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย นางสาวปิยะมล อินทรพาณิชย์นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นับเป็นนวัตกรรมที่สร้างความหวังใหม่เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องผมขาวได้มีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจากพืชสมุนไพรธรรมชาติไว้ใช้ปิดผมขาวได้อย่างมั่นใจ โดยมีส่วนประกอบสำคัญจากพืชสมุนไพร "เทียนกิ่ง" ผสมผสานด้วยสารพอลิเมอร์ (Polymer) ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทำให้สีติดทนนาน ภายในระยะเวลาที่น้อยกว่าการย้อมด้วยผลิตภัณฑ์ปิดผมขาวจากสมุนไพรโดยทั่วไปและผมที่ย้อมไม่แข็งกระด้างด้วยมีส่วนผสมจากสมุนไพรที่ช่วยบำรุงเส้นผม อาทิ กะเม็งตัวเมีย และ มะขามป้อม

ซึ่ง "เทียนกิ่ง" เป็นพืชสมุนไพรที่สตรีชาวอินเดียนิยมนำส่วนของใบมาบดละเอียดผสมกับน้ำทำเป็นเฮนน่าใช้ปิดผมขาวและวาดลวดลายตกแต่งร่างกายสำหรับงานพิธีและเทศกาลต่างๆ มาช้านาน แต่ติดปัญหาตรงขั้นตอนการเตรียมที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง อีกทั้งต้องรออย่างต่ำอีกประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อให้ผมติดสี แต่สีจะค่อยๆ จางลงภายในระยะเวลาเพียง 2 - 4 สัปดาห์ อีกทั้งผมที่ย้อมมีลักษณะแข็งกระด้างกว่า

ในขณะที่ด้วยนวัตกรรมปิดผมขาวจากพืชสมุนไพรใบเทียนกิ่งผสมกับสารพอลิเมอร์ และสมุนไพรที่ช่วยบำรุงเส้นผมจากการศึกษาเปรียบเทียบกับงานวิจัยที่มีก่อนหน้าหลายฉบับ และผ่านการทดสอบในเบื้องต้นแล้วพบว่าสามารถใช้ย้อมปิดผมขาวได้โดยใช้เวลาที่น้อยกว่า และติดทนนานกว่าโดยมีสารพอลิเมอร์ที่เติมลงไปทำหน้าที่คล้าย "กาว" คอยจับเม็ดสีให้ติดเร็วและทนนานยิ่งขึ้น

ขณะนี้ผลงานของ "Colorganic" กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเฉดสี ตลอดจนศึกษาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องก่อนพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยความมุ่งมั่นเล็กๆ จากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เมื่อนำมารวมกันเชื่อว่าจะกลายเป็นพลังสู่ "ก้าวที่เกรียงไกร" ซึ่งจะคอยช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมทัดเทียมนานาชาติได้ในเร็ววัน

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210 .

ม.มหิดล ฉีกแนวบ่มเพาะนักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ เสริมฐานทักษะผู้ประกอบการให้นักศึกษาผ่านโครงการ "Plantbiz" บูรณาการองค์ความรู้เรื่องพืชสู่เชิงพาณิชย์
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit