Fed ส่งสัญญาณเข้มคุ้มเงินเฟ้อ ทิสโก้เตือน! ใน1 - 3 เดือน หุ้นอาจร่วงแรงอีกครั้ง จังหวะซื้อเทคฯ เฮลธ์แคร์ พลังงานหมุนเวียนหลบภัย

31 Aug 2022

ศูนย์เคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ลงทุนทิสโก้เตือน ในช่วง 1 - 3 เดือนนักลงทุนเตรียมรับมือหุ้นร่วงแรงอีกครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเดินหน้านโยบายการเงินเข้มเพื่อคุมเงินเฟ้อ พร้อมคาดจะยังส่งสัญญาณนโยบายการเงินเข้มงวดต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี แนะลงทุนในหุ้นอย่างระมัดระวัง และเป็นจังหวะซื้อหุ้นเทคโนโลยีและเฮลธ์แคร์ และหุ้นพลังงานหมุนเวียนหลบภัย 

Fed ส่งสัญญาณเข้มคุ้มเงินเฟ้อ ทิสโก้เตือน! ใน1 - 3 เดือน หุ้นอาจร่วงแรงอีกครั้ง จังหวะซื้อเทคฯ เฮลธ์แคร์ พลังงานหมุนเวียนหลบภัย

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาอยู่ภายใต้แรงกดดันของนโยบายการเงินอีกครั้งหลังการประชุมประจำปี Jackson Hole Symposium เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กล่าวย้ำในการประชุมถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง และการคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และยังระบุว่าการกดเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% เป็นสิ่งที่ Fed ให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้ พร้อมย้ำว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติ (ระดับ 0.75%) อาจมีความเหมาะสมในการประชุมเดือนกันยายนด้วย

ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า Fed จะยังคงส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่เข้มงวดในลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุน 3 ประเด็น คือ

  1. อัตราเงินเฟ้อแม้จะเริ่มกลับมาลดลง แต่ยังอยู่สูงในระดับที่สูงเกินกว่าที่ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ณ สิ้นปีจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 5 - 6% ซึ่งยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ตลาดคาดว่า ณ สิ้นปีจะอยู่ในระดับ 3.5 - 3.75% ซึ่งในอดีต Fed ไม่เคยหยุดขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเลยสักครั้ง ดังนั้น จึงคาดว่า Fed จะยังไม่ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงสิ้นปีนี้อย่างที่ตลาดคาด
  2. อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นอุปสรรคไม่ให้ Fed ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ได้เปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ Fed เริ่มลดดอกเบี้ยในอดีตย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2500 พบว่า ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูง เกินกว่า 5% Fed มักปล่อยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง จึงจะตัดสินใจลดดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างกับในช่วงเงินเฟ้อต่ำที่ Fed อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในทันทีที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง
  3. คาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง โดยคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาดในช่วง 10 ปีข้างหน้า กลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2.5% ซึ่งเป็นจุดที่ Fed มักปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น เช่น ในปี 2556 ที่ Fed ส่งสัญญาณลด QE จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่เรียกว่า Taper Tantrum ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงรับข่าว Fed ประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงช่วงที่คาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาเข้าใกล้ระดับ 2.5% ทำให้ Fed กลับมาขึ้นดอกเบี้ยในปี 2559 และเริ่มลดขนาดงบดุล ในปี 2560

จากประเด็นดังกล่าว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ แนะนำให้นักลงทุนลงทุนด้วยความระมัดระวัง เพราะตลาดหุ้นจะกลับมาอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ประกอบกับมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จึงมีความเสี่ยงที่ในระยะ 1- 3 เดือนข้างหน้า ตลาดหุ้นจะปรับลดลง และกลับไปอยู่ใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดเดิม

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในช่วงนี้เป็นโอกาสของการเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ ที่กำไรมักจะเติบโตได้ดีในทุกสภาวะเศรษฐกิจ และหุ้นพลังงานหมุนเวียน ที่หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญและเริ่มลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ