การส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ประเทศไทยถือเป็นนโยบายแห่งชาติ (national policy) ซึ่งเบื้องหลังของการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว คือ พลังจากนักวิจัย ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การรักษา และบริบททางด้านสังคมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิตอาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมถ์ ในฐานะ"นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์" ประจำปี 2565
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย และในโลก แม้ปัจจุบันจะมีการคิดค้นวิธีการรักษาให้หายขาดด้วยยีนบำบัด แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียโดยทั่วไปยังไม่อาจเข้าถึงได้จึงยังจำเป็นต้องเข้ารับการรับเลือดและรับประทาน "ยาขับเหล็ก" อย่างต่อเนื่อง
นอกจากความทุ่มเททำงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ และพัฒนาการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียอย่างตรงจุดด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ตลอดเวลาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ยังให้ความสำคัญต่อการทำงานวิจัยที่ครอบคลุมไปถึงบริบทด้านสังคมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนด้วยทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) สหรัฐอเมริกา และสมาคมโลหิตวิทยาสหรัฐอเมริกา
ซึ่งจากแนวทางการสร้างองค์ความรู้ให้ครอบคลุมทุกด้านทำให้ได้เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชาวไทยได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการทำความเข้าใจในบริบทที่ต้องการศึกษา ผ่านการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Study) ที่ใช้วิธีการศึกษาจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (focus group) และใช้คำถามวิจัย(questionaire) ที่ออกแบบขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่ได้จากการรักษาและสอบถามอาการของผู้ป่วย
ผลงานวิจัยดังกล่าว ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปรวิประกษิต ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านชุมชนและสังคมประจำปี 2565 จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มขึ้นอีกรางวัล
นอกจากการรักษาด้วยยีนบำบัดที่กำลังพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้ได้เข้าถึงต่อไปในอนาคตแล้ว ปัจจุบันผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่ยังใช้วิธีการรักษาแบบเดิม ยังจะได้รับยาขับเหล็กสูตรใหม่"ดีเฟอราซิร็อค" (deferasirox) ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมซึ่งเป็นยารับประทานชนิดเม็ด ราคาถูกกว่ายาเดิมที่เป็นชนิดฉีด
โดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต ได้รับทุนวิจัยจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ องค์การเภสัชกรรม เพื่อทำการวิจัยศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียชาวไทย และจะได้มีการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ในต่างประเทศต่อไปอีกด้วย
"ประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญต่อการทำงานวิจัย เพื่อสามารถพึ่งพาตนเองให้เกิดความยั่งยืน จึงอยากให้มีการส่งเสริมการวิจัยในทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่โอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักทางเศรษฐกิจโลกต่อไปให้ได้มากที่สุด" ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit