ผู้นำทุกระดับ ประสานเสียง ปราบโกงยุคดิจิทัล ต้องผนึกประชาชนให้มีส่วนร่วม "ชัชชาติ" หนุนใช้ ACT Ai เป็นเครื่องมือ ให้ประชาชนตรวจสอบการโกง

07 Sep 2022

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้นำระดับจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม เสวนา "ผู้นำ…กับการปราบโกง" เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดย นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขับเคลื่อนการต้านโกงมากว่า 11 ปี ได้รับความร่วมมือจากองค์กรสมาชิกและเครือข่ายทุกภาคส่วนผลักดันการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมาต่อเนื่อง ปีนี้เราให้ความสำคัญกับผู้นำ เพราะผู้นำคือคนสำคัญที่สุดในการปราบคอร์รัปชัน ผู้นำที่ดีต้องกล้าตัดสินใจ มีความโปร่งใส มีแนวคิดและแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อเป็น "ต้นแบบ" สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาและประชาชน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอร์รัปชันยังคงสร้างความทุกข์ให้กับสังคม ทุกองค์กรทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันให้ความสำคัญและร่วมให้กำลังใจกับผู้นำเพื่อร่วมสู้โกงไปด้วยกัน บนความเชื่อ ความหวัง และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จะเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ต่อไป

ผู้นำทุกระดับ ประสานเสียง ปราบโกงยุคดิจิทัล ต้องผนึกประชาชนให้มีส่วนร่วม "ชัชชาติ" หนุนใช้ ACT Ai เป็นเครื่องมือ ให้ประชาชนตรวจสอบการโกง

ขณะเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมเสวนาผ่านวิดีโอคลิปพร้อมกล่าวถึงบทบาทของผู้นำว่า จากการสำรวจแม้จะมีระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์มาคุมกรอบเวลาการใช้งบประมาณ หรือการใช้การประกวดราคาอิเล็กทรอกนิกส์หรือ e-bidding ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแต่ก็ยังเกิดการคอร์รัปชัน หากจะแก้ไขปัญหาเราต้องให้ความสำคัญกับการจัดระบบงาน และ ระบบคน ต้องสร้างให้มี Code of Conduct ทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้นำจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างสำนึกในการทำงานอย่างสำคัญ

ส่วน รศ.ดร.ชัชชาติ ระบุตอนหนึ่งว่า ปัญหาคอร์รัปชันมักจะเกิดจากแผลเล็ก ๆ และลามกลายเป็นบาดทะยัก ตัวผู้นำเป็นต้นแบบสำคัญ คือ 1.ผู้นำ จะเป็นต้นตอของปัญหาถ้าผู้นำดี คอร์รัปชันจะไม่มี ตนจำแนกผู้นำออกเป็น 3 แบบ ระดับศูนย์คือโกงกินด้วยตนเองซื้อขายตำแหน่ง ระดับหนึ่งผู้นำไม่โกงแต่ปล่อยลูกน้องโกง ระดับสองไม่เอาจริงเอาจังเป็นแค่ผู้นำสโลแกน 2. ภาคีเครือข่าย ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างในกทม.นำแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา หรือ ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) มาใช้ ตอนนี้มีร้องเรียนมากว่า 130,000 เรื่อง แก้ไขแล้ว 70,000 เรื่อง ถ้าประชาชนมีช่องทางแจ้งข้อมูลเขาจะกลายเป็นเครือข่ายการทำงานให้เราได้ และ 3.การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะการเสริมอำนาจให้ประชาชนมีเครื่องมือตรวจสอบ อย่างการนำ ACT Ai มาใช้ จะทำให้การแก้ไขทุจริตเป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่สำคัญผู้นำจะต้องรู้ว่าองค์กรของตัวเองมีคอร์รัปชันอยู่จุดไหน เมื่อรู้แล้วจะต้องเป็นผู้นำให้เกิดการแก้ปัญหาให้ได้

ทางด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ผู้นำต้องส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ (Open Data) เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมตรวจสอบ กระตุ้นให้ประชาชนเป็นพลเมืองตื่นรู้ หรือ Active Citizen รวมทั้งผลักดันให้สังคมสร้างวัฒนธรรมใหม่ต่อมุมมองของผู้นำ เน้นการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างคุ้มค่ามากกว่าการทำเพื่อบางคนบางกลุ่มเท่านั้น สอดคล้องกับ นางสาวเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่สนับสนุนแนวคิดให้ผู้นำต้องสร้างความเชื่อใจ โดยบอกว่า เมื่อประชาชนไว้ใจจะเกิดการมีส่วนร่วมตามมา เป็นการเมืองภาคประชาชนที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวตอนหนึ่งว่า การแก้กฎเกณฑ์การบริหารราชการให้ความสำคัญกับการบริการประชาชนเป็นอีกเรื่องที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ พร้อมกับการส่งเสริมบทบาทผู้นำให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน

นอกจากนี้ ในการบริหารราชการระดับจังหวัด นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามุ่งบริหาร 3 มิติ ประกอบด้วย 1.บ้านเมืองต้องสะอาด ทั้งภูมิทัศน์และความสะอาดของสถานที่ 2.คนต้องสะอาด คือ ทั้งผู้นำและข้าราชการต้องทำงานด้วยความโปร่งใส 3.แผ่นดินสะอาด คือ การสร้าง "บวร" ให้มีส่วนร่วม "บ้าน-วัด-ราชการ" เพื่อสร้างชุมชนให้น่าอยู่และปลอดการโกงกิน มีการนำโครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP) และข้อมูลการตรวจสอบการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) มาใช้ทำให้เกิดความคุ้มค่าอย่างสูงสุด ส่วน นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ย้ำว่า เมื่อผู้นำทำงานเป็นทีมกับข้าราชการและประชาชน ได้พิสูจน์ให้เห็นจากโครงการการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) พบว่าคะแนนของภูเก็ตดีขึ้นมาอยู่ในระดับ AA ซึ่งมาจากผู้นำประกาศเป็นพันธะสัญญาอย่างชัดเจนและสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานกับประชาชนด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค กรรมการบริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ในฐานะผู้ดูแล ACT Ai กล่าวว่า ACT Ai เป็นฐานข้อมูลต้านโกงขนาดใหญ่เกิดจากการผนึกกำลังของเครือข่ายสมาชิกเพื่อรวบรวมข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนได้ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบ ที่ผ่านมามีผู้เข้าใช้งานกว่า 6 หมื่นคน และยังคงพัฒนา อย่างต่อเนื่องจากการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลายวัย หลายไอเดีย เกิดเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ อาทิ "ทีมกินยกแก๊งค์" คิดเครื่องมือที่เชื่อมโยงการโกงแบบเครือข่ายของนักการเมืองพัฒนาต่อเป็นแดชบอร์ดความสัมพันธ์การโกง หรือไอเดียจาก "ทีมขิงบ้านเรา"ในโครงการผ่างบเมืองที่รวมข้อมูลงบประมาณในท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงการใช้งบ และยังสร้างโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมแบ่งปันข้อมูลไปด้วยกัน อีกทั้งโครงการตรวจสอบใช้งบในโรงเรียนด้วย School Governance และยังรวมถึงแพลตฟอร์มแจ้งเบาะแสเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชันผ่าน LINE OA : จับตาไม่ให้ใครโกง Corruption Watch (@corruptionwatch) และ Voice of Change เครื่องมือรับแจ้งเบาะแสการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น วันนี้ ACT Ai จึงพร้อมเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามาใช้งานเพื่อการปราบโกงไปด้วยกัน

สำหรับในปีนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันผนึกกำลังร่วมกับองค์กรสมาชิกจัดกิจกรรม วันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 ณ ลานเวทีใหญ่ ชั้น M สถานีกลางบางซื่อ โดยกำหนดแนวคิดในการจัดงาน "ผู้นำ…กับการปราบโกง" ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมแสดงพลังของหน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำในประเทศไทย เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบอย่างพร้อมเพรียงและมีพลังอีกด้วย.

ผู้นำทุกระดับ ประสานเสียง ปราบโกงยุคดิจิทัล ต้องผนึกประชาชนให้มีส่วนร่วม "ชัชชาติ" หนุนใช้ ACT Ai เป็นเครื่องมือ ให้ประชาชนตรวจสอบการโกง