ด้วย "ศาสตร์พระราชา" ได้พิสูจน์แล้วว่า "หญ้าแฝก" ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียง "วัชพืชไร้ค่า" สามารถนำมาพลิกฟื้น "ดินเสื่อม" ให้เป็น "ดินอุดมสมบูรณ์" ได้อย่างไร แม้ผืนดินที่มี"ชั้นหินลูกรัง" ก็ยังสามารถ "ฝังรากหยั่งลึก" โอบอุ้ม"ความชุ่มชื้น" ให้เกษตรกรได้ชุ่มชื่นหัวใจกับผลผลิตทางการเกษตรที่งดงาม จากแผ่นดินที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยหญ้าที่สร้างคุณเอนกอนันต์ให้กับแผ่นดินนี้
เช่นเดียวกับโจทย์ที่ท้าทาย ณ บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยคจ.กาญจนบุรี ที่แม้จะมีผืนดิน "ชั้นหินปูน" ที่ยากต่อการเพาะปลูกเพียงใด ก็สามารถจัดการให้เกิดความสมดุลได้ด้วยหญ้าแฝก
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านบริการสังคมและชุมชนสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีสามารถคว้าทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ 2565 จากการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาใช้พลิกฟื้น "ดินเสื่อม" แห่งบ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ให้เป็น "ดินอุดมสมบูรณ์"
บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักท่องเที่ยวผู้รักในความสวยงามตามธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งได้รับขนานนามว่า "ปางอุ๋งไทรโยค"
แต่น้อยคนที่จะทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก ด้วยเหตุพื้นที่มีความลาดชัน และเต็มไปด้วยชั้นหินปูนและขาดอินทรีย์วัตถุ จึงทำให้ทำการเกษตรไม่ได้ผลดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดกาญจนบุรี (Agritech and Innovation Center ; AIC) ได้นำทีมสหสาขาวิชาจากศูนย์ฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ให้ได้มี "ดินดำน้ำชุ่ม" ที่สามารถใช้เพาะปลูกได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลานจากการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรวิถีใหม่ (Smart Farmers) ซึ่งมาจากคนในชุมชน ได้ทดลองปลูกหญ้าแฝกที่ "เห็นผลได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยง" จากแปลงทดลองต้นแบบ
โดยการทดลองปลูกสับปะรดใน 5 แปลงที่ใช้วิธีการที่แตกต่างกัน ทั้งด้วยวิธีการปลูกแบบเดิม และปลูกพร้อมพืชคลุมดินชนิดต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบกัน พบว่าแปลงที่ใช้วิธีการปลูกพร้อมหญ้าแฝก และบำรุงด้วยปุ๋ยจากน้ำหมักชีวภาพให้ผลดีกว่าการปลูกด้วยวิธีอื่นๆ
โดยวิธีการปลูกแบบเดิม ต้องใช้ทั้งทุนและแรงงานมากกว่าเนื่องจากดินเดิมมีอินทรีย์วัตถุน้อย ต้องใช้ปุ๋ยมาก และอยู่เพียงผิวดิน พร้อมที่จะถูกชะล้างไหลออกนอกแปลงซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันได้ทุกเมื่อที่มีฝนตก ในขณะที่แปลงเป้าหมายใช้หญ้าแฝกคอยโอบอุ้มรักษาความชุ่มชื้น และความสมดุลให้ชั้นหน้าดิน จึงใช้ทุนและแรงงานที่น้อยกว่า พร้อมทั้งรากของหญ้าแฝกยังช่วยเก็บกักธาตุอาหารลงใต้ดินได้
ด้วยความภาคภูมิใจในความเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ และศูนย์ AIC จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมตั้งมั่นในปณิธานฯ เป็นกำลังสำคัญเพื่อชุมชน โดยคาดหวังให้มีเกษตรกรวิถีใหม่ (Smart Farmers) ที่ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันจากศูนย์ฯ ไปสานต่อ
จากการทำงาน พร้อมเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการ และเกษตรกรของชุมชน โดยใช้ศาสตร์พระราชาเป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถวัดผลและควบคุมคุณภาพการผลิตได้จากห้องปฏิบัติการ โดยมีศูนย์ AIC คอยดูแลอย่างครบวงจร ด้วยมาตรการประกันราคา ซึ่งจะคืนเงินลงทุนสาธิตให้เกษตรกรในทันทีที่ได้ผลผลิตออกมาดี แนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความลุ่มลึก รอบด้าน มองการณ์ไกล และเน้นความยั่งยืนยาวนาน
องค์ประกอบของศาสตร์พระราชา คือ การศึกษาและสุขภาพการเพิ่มผลิตภาพการผลิต การค้นคว้าวิจัย การบริหารความเสี่ยง การอนุรักษ์ธรรมชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่ละองค์ประกอบล้วนมีส่วนช่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกผู้ทุกคน โดยเฉพาะคนจนผู้ยากไร้
เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตาม SDGs องค์การสหประชาชาติ ข้อ 15 ที่ว่าด้วย "Life On Land" เพื่อให้พื้นที่บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งคน ป่า และชุมชนอยู่ร่วมกันโดยผาสุกพร้อมเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ได้ต่อไป.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit