กสศ. ผนึกกำลัง 9 สถาบันผลิตและพัฒนาครู ลงนาม MOU สร้าง 'ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 4' มุ่งผลิต ครูรุ่นใหม่แก้ปัญหาครูโยกย้าย พร้อมสร้างคุณภาพการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล

23 Sep 2022

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อลงนามความร่วมมือและพัฒนาแนวทางการทำงานระหว่าง กสศ. กับสถาบันผลิตและพัฒนาครู 9 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ เดินหน้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4 ปีการศึกษา 2566 ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.) ที่มุ่งมั่นสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาส ซึ่งมีศักยภาพและมีใจรักอยากเป็นครูให้ได้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษา และได้รับการบรรจุเป็นครูรุ่นใหม่ในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเป็นชุมชนบ้านเกิด เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูและการโยกย้าย โดยคาดหวังว่านักศึกษาผู้รับทุนจะได้รับการบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครู และเป็นนักพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพสอดคล้องกับโจทย์การทำงานในท้องถิ่น

กสศ. ผนึกกำลัง 9 สถาบันผลิตและพัฒนาครู ลงนาม MOU สร้าง 'ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 4' มุ่งผลิต ครูรุ่นใหม่แก้ปัญหาครูโยกย้าย พร้อมสร้างคุณภาพการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนการวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้การพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โจทย์ท้าทายที่ทุกท่านมาร่วมกันทำงานครั้งนี้ คือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร การจะนำคนในท้องถิ่นออกมาพัฒนาให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ยาก หรือการส่งคนนอกเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ทุรกันดารก็จะพบปัญหาการโยกย้ายกลับถิ่นฐานของบุคลากร ซึ่งทำให้ขาดความยั่งยืนและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการนวัตกรรมที่ดำเนินการด้วยแนวคิดสำคัญคือ การพัฒนาชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง โดยให้โอกาสกับเยาวชนที่มุ่งมั่นอยากเป็นครูให้มาเข้ารับการเรียนรู้ฝึกฝนกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในท้องถิ่น

ดร.ดนุช กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยที่ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพ ทั้งความเป็นผู้นำด้านวิชาการของภูมิภาค รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยการวิจัยและการบริการวิชาการอย่างสร้างสรรค์ เรียกว่าเป็นสถาบันต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูระบบปิด คือการสร้างครูลักษณะเฉพาะลงในพื้นที่เฉพาะ ในกรณีนี้คือการผลิตครูเพื่อพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร การปลูกฝัง DNA ของนักพัฒนาชุมชนร่วมไปกับการพัฒนาทางวิชาการที่ทันสมัย นวัตกรรมเหล่านี้จะเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้นแบบต้องร่วมมือกันโดยใช้ความเชี่ยวชาญของการเป็นสถาบันการอุดมศึกษา ความเป็นเลิศด้านวิชาการในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบตามหลักวิชาการ เพื่อยืนยันผลผลิตและพัฒนาครูระบบปิด ตั้งแต่กระบวนการค้นหาคัดกรองที่มีมาตรฐาน การนำเยาวชนในชุมชนที่มีศักยภาพและความมุ่งมั่นมาเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา 4 ปี ด้วยหลักสูตรที่แต่ละมหาวิทยาลัยออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองชุมชน และจะต้องบรรจุทำงานที่บ้านเกิดเป็นระยะเวลา 6 ปี เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของงานวิจัยระยะยาวเพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการผลิตและพัฒนาครูทางเลือกที่มีศักยภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการผลิตและพัฒนาครูระบบปิดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตัดวงจรการขาดแคลนครู และเพิ่มอัตราการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพบนฐานแนวคิดที่ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า ปัจจุบัน กสศ. มอบโอกาสให้นักเรียนมาแล้ว 3 รุ่น จำนวน 865 คน สำหรับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 4 มีนักเรียนทุน 327 อัตรา จาก 324 โรงเรียนปลายทางใน 43 จังหวัด และปี 2566 รุ่นที่ 5 โครงการฯจะรับนักเรียนทุนอีก 310 อัตรา เมื่อรวมกับรุ่น 1-4 แล้ว จะได้นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น 1,500 คน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสถาบันผลิตและพัฒนาครูทุกแห่งที่ร่วมเป็นเครือข่ายทำงานกำลังเป็นผู้สร้างและก่อความเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและพัฒนาครูครั้งสำคัญ ซึ่ง กสศ. เชื่อว่าด้วยพลังของทั้ง 18 สถาบัน จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่จริง สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในการผลิตและพัฒนาครูตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เห็นอย่างชัดเจน

"กระบวนการต้นน้ำ คือสถาบันแต่ละแห่งมีนวัตกรรมการค้นหาคัดเลือกเพื่อให้ได้นักศึกษาตรงคุณสมบัติ กลางน้ำ คือหลักสูตรซึ่งสถาบันจัดเตรียมไว้เพื่อให้ตอบสนองตามหลักคิดและแนวทางของโครงการซึ่งลงรายละเอียดถึงเด็กเป็นรายคน และตามความแตกต่างของลักษณะพื้นที่แต่ละแห่ง ส่วนปลายน้ำ คือปลายทางที่นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นจะไปบรรจุ ที่สถาบันผลิตและพัฒนาครูได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน เพื่อพัฒนาทั้งโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมกัน ด้วยหลักสูตรเฉพาะทางหรือ Enrichment Program ที่จัดเตรียมความพร้อมของครูไว้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนของตนเอง เมื่อครูกลุ่มนี้เรียนจบเขาจึงพร้อมทำงานทันที พร้อมพัฒนาโรงเรียนและสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น เราเชื่อว่าครูคุณภาพสูงคนหนึ่ง จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลให้กับพื้นที่ ดังนั้นเมื่อเรามีครูรุ่นใหม่ที่เข้าใจการจัดการศึกษาและพัฒนาชุมชนถึง 1,500 คน ย่อมหมายถึงโอกาสเข้าถึงการศึกษาคุณภาพของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศในอนาคต"
รศ.ดร.ดารณี กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า หน้าที่หลักของ กสศ. คือการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยโจทย์หนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ กสศ. ทำตั้งแต่ปี 2562 คือการทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนตามแนวชายแดน โรงเรียนบนพื้นที่เกาะ หุบเขา หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งมีปัญหาเรื่องอัตรากำลังครู ทั้งจากการไม่มีครูเลือกบรรจุทำงาน หรือมีครูขอโยกย้ายออกปีละจำนวนมาก จนเป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่ยังไม่สามารถส่งเสริมให้เด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้

ดร.ไกรยส กล่าวเสริมว่า โครงการ 'ครูรัก(ษ์)ถิ่น' ในความร่วมมือของ 6 หน่วยงาน มุ่งแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และตอบโจทย์ที่สำคัญของ กสศ. คือ สนับสนุนให้เกิดสถาบันต้นแบบในการผลิตและพัฒนาครู โดยร่วมกันพัฒนาแนวคิดเพื่อผลิตและพัฒนาครูด้วยวิธีและนวัตกรรมที่เหมาะกับโจทย์ในระดับพื้นที่ นำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายตั้งแต่ต้นทางของระบบการศึกษา เพื่อลดปัญหาการโยกย้ายและสร้างคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลด้วย 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1) สร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนโอกาสในพื้นที่ห่างไกลให้ได้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 2) พัฒนาและปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูคุณภาพสูงของสถาบันผลิตและพัฒนาครู 3) พัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางที่บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นจะเข้าไปปฏิบัติงานหลังจบการศึกษา เชื่อว่าในอีกไม่นานนักศึกษาและบัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่น จะนำความรู้จากหลักสูตรใหม่ และประสบการณ์จากโครงการที่สถาบันต้นแบบการผลิตและพัฒนาครูถ่ายทอดไปใช้ประโยชน์ และส่งต่อโอกาสให้เด็กในพื้นที่ได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเพื่อลดวงจรความขาดแคลนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กสศ. มีสถาบันผลิตและพัฒนาครู จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

กสศ. ผนึกกำลัง 9 สถาบันผลิตและพัฒนาครู ลงนาม MOU สร้าง 'ครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 4' มุ่งผลิต ครูรุ่นใหม่แก้ปัญหาครูโยกย้าย พร้อมสร้างคุณภาพการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล