ไต้หวันจัดพิธีเปิดนิคมอัจฉริยะไทย-ไต้หวัน ที่ปทุมธานี

27 Sep 2022

นับเป็นก้าวใหม่ด้านการส่งออกโซลูชันการรวมระบบของไต้หวัน

ไต้หวันจัดพิธีเปิดนิคมอัจฉริยะไทย-ไต้หวัน ที่ปทุมธานี

พิธีเปิดศูนย์สาธิตระดับนานาชาติอย่างนิคมอัจฉริยะไทย-ไต้หวัน (Thailand-Taiwan Smart Park หรือ TTSP) จัดขึ้นที่ซินฮับ ดิจิ-เทค คอมมิวนิตี (SynHub Digi-Tech Community) ในจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 รายจากไต้หวันและประเทศไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยและไต้หวันที่เข้าร่วมในพิธีเปิดและตัดริบบิ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณเยิน เฟิงจื่อ (Michael Yen) รองหัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของไอดีบี (IDB) คุณนิติ เมฆหมอก และคุณรัศมี สืบชมภู ซีอีโอร่วมและผู้ก่อตั้งร่วมของ SynHub คุณศุภกร สิทธิชัย รองประธานบริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) คุณจุง ซู หนิว (Jung Tzu Niu) เลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจไทย ประจำสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป และคุณซุน จุง ทู (Shun Jung Tu) รองผู้อำนวยการฝ่ายระหว่างประเทศ สถาบันอุตสาหกรรมสารสนเทศ ภายในงานไม่เพียงแต่ตอกย้ำการให้ความสำคัญจากทั้งสองฝ่ายในนิคมแห่งนี้ แต่ยังเป็นก้าวใหม่ในความร่วมมือในด้านการรวมระบบและเมืองอัจฉริยะด้วย

TTSP เป็นศูนย์สาธิตโซลูชันอัจฉริยะในต่างประเทศแห่งแรกของไต้หวัน ใช้รูปแบบความร่วมมือโดยผู้ผลิตในไต้หวันจะเป็นผู้จัดหาโซลูชันอัจฉริยะ ขณะที่ซินฮับ ดิจิ-เทค คอมมิวนิตี จะเป็นผู้จัดเตรียมไซต์สำหรับการติดตั้งและสาธิตการใช้งาน ศูนย์สาธิตแห่งนี้จะให้บริการนำเที่ยวภายในแก่ผู้ค้าในท้องถิ่น และทำหน้าที่เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาที่ช่วยในการนำโซลูชันของไต้หวันมาใช้ในระดับโลกต่อไป

"การก่อตั้ง TTSP ร่วมกับซินฮับ ดิจิ-เทค คอมมิวนิตี ช่วยให้ตรวจสอบโซลูชันอัจฉริยะของไต้หวันในตลาดต่างประเทศแบบออนไซต์ได้ ในขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ผลิตของไทยเข้าถึงโซลูชันเหล่านี้ได้โดยตรง" คุณเยิน กล่าว นอกจากนี้ "ศูนย์แห่งนี้จะทำให้ประเทศและภูมิภาคโดยรอบมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงผลลัพธ์ของความร่วมมือระหว่างไทย-ไต้หวันในด้านโซลูชันอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระดับอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวันและไทย รวมถึงตลาดอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

TTSP จะรวมโซลูชั่นอัจฉริยะของไต้หวันใน 7 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ การคมนาคม พลังงาน ที่อยู่อาศัย วัฒนธรรม นโยบาย และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย การใช้งานและการสาธิตโซลูชันของไต้หวันจะทำให้สถานที่แห่งนี้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือไทย-ไต้หวัน โดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ผลิตไทยสามารถทำความเข้าใจในโซลูชันเหล่านี้ และประเมินความเป็นไปได้ของบริการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การก่อตั้ง TTSP จะทำให้ไต้หวันใช้ข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในการสร้างและกระชับความร่วมมือกับตลาดอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านเมืองอัจฉริยะนอกเหนือจากประเทศไทยได้

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการโซลูชันจากไต้หวัน 5 ราย ได้แก่ คามิโอ อินโฟเทค (CAMEO InfoTech) ทรีอีกรีน เทคโนโลยี (3Egreen Technology) ชุน ไม คอมมิวนิเคชัน ซิสเต็มส์ (Chiun Mai Communication Systems) อินทูมิท (Intumit, Inc.) และชิโคนี พาวเวอร์ เทคโนโลยี (Chicony Power Technology) จะให้บริการโซลูชันต่าง ๆ แก่ TTSP ซึ่งครอบคลุมการตรวจสอบคุณภาพอากาศและการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ การตรวจสอบการใช้พลังงาน การตรวจจับการล้มโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่ง/การระบุตำแหน่ง SOS GPS แชทบอทปัญญาประดิษฐ์เพื่อการสนทนา และโซลูชันอาคารอัจฉริยะ บริษัทยังวางแผนที่จะดำเนินการและสาธิตโซลูชันอัจฉริยะที่หลากหลายภายในศูนย์แห่งนี้ ผ่านความร่วมมือรูปแบบใหม่ที่คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนความพยายามร่วมกันระหว่างไต้หวันและไทยในการสร้างเมืองอัจฉริยะ

รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1904175/TTSP.jpg
คำบรรยายภาพ - พิธีเปิดและตัดริบบิ้นนิคมอัจฉริยะไทย-ไต้หวัน นำโดยคุณรัศมี สืบชมภู ซีอีโอร่วมและผู้ก่อตั้งร่วมของ SynHub (ซ้ายสุด) คุณศุภกร สิทธิชัย รองประธานบริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (คนที่สองจากซ้าย) คุณนิติ เมฆหมอก ซีอีโอร่วมและผู้ก่อตั้งร่วมของ SynHub (คนที่สามจากซ้าย) คุณไมเคิล เยิน (Michael Yen) รองหัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของไอดีบี (คนที่สามจากขวา) คุณจุง ซู หนิว (Jung Tzu Niu) เลขาธิการประจำสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ฝ่ายเศรษฐกิจไทย (คนที่สองจากขวา) และคุณซุน จุง ทู (Shun Jung Tu) รองผู้อำนวยการฝ่ายระหว่างประเทศ สถาบันอุตสาหกรรมสารสนเทศ (ขวาสุด)