การเรียนรู้ที่ถ่องแท้ ต้องศึกษาแบบเจาะลึกลงไปถึงจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกับ "ชีววิทยา" หรือการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่จุดกำเนิดจากเซลล์เดี่ยว ซึ่งเปรียบเหมือน"พิมพ์เขียว" แห่งชีวิต จนกลายเป็นจิ๊กซอว์ประกอบขึ้นเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่ต้องบริหารจัดการด้วย "ชีววิทยาคอมพิวเตอร์"
อาจารย์ ดร.วรดล สังข์นาค แห่งภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์นักวิทยาศาสตร์ชาวไทยระดับแนวหน้าผู้เชี่ยวชาญในการใช้"ชีววิทยาคอมพิวเตอร์" ถอดรหัสอาร์เอ็นเอเซลล์เดี่ยว หรือการแสดงออกของยีนและโปรตีนจากเซลล์เดี่ยว จนสามารถระบุเซลล์เป้าหมายของการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างแม่นยำในเซลล์เยื่อบุโพรงจมูกครั้งแรก และยังสามารถสร้างความเข้าใจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการที่แตกต่างกันได้อย่างลึกซึ้ง
ในขณะทำงานวิจัยหลังปริญญาเอก ณ สหราชอาณาจักรภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา และมารับหน้าที่อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เช่นปัจจุบันอาจารย์ ดร.วรดล สังข์นาค ได้มีโอกาสร่วมงานกับทีมIntegrated Computational BioSciences และ Systems Biology of Diseases MUSC นำโดย รองศาสตราจารย์ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ ภาควิชาชีวเคมี และ รองศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพรพรรณ มาตังคสมบัติ ชูวงศ์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยมีความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อจัดตั้งห้องปฏิบัติการการถอดรหัสอาร์เอ็นเอเซลล์เดี่ยวอย่างครบวงจรครั้งแรกในประเทศไทย ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
อาจารย์ ดร.วรดล สังข์นาค กล่าวว่า งานวิจัยอาจไม่ได้เริ่มต้นที่ห้องปฏิบัติการเสมอไป แต่อาจต่อยอดได้จากข้อมูลหรือความสำเร็จจากการค้นพบที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมไว้เป็น"เหมืองข้อมูล" เพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยมองว่า "ชีววิทยาคอมพิวเตอร์" หรือทักษะการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต เป็นศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ควรเรียนรู้
ซึ่งการใช้เทคนิคถอดรหัสอาร์เอ็นเอเซลล์เดี่ยวจะเป็นประตูสู่การค้นพบที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่เพียงโรคติดเชื้อ หรือโรคอุบัติใหม่ที่ประชากรโลกต้องเผชิญอีกในวันข้างหน้า ยังจะช่วยนำพาสู่การค้นพบแนวทางการรักษาใหม่จากโรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ อย่างโรคมะเร็ง เพื่อการศึกษาเซลล์เป้าหมาย และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แตกต่างในผู้ป่วยแต่ละรายได้เช่นกัน
หรือแม้แต่ในเรื่องของการส่งเสริมเศรษฐกิจตามนโยบายBCG ที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร"สตาร์ทอัพ" หรือผู้ประกอบการรายใหม่ อาจเลือกใช้เทคโนโลยีศึกษาเซลล์เดี่ยวเพื่อดูการตอบสนองของเซลล์เป้าหมาย และภูมิคุ้มกันร่างกายต่อสารสกัดจากพืชสมุนไพรเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ต่อไปอีกด้วย
3 - 4 พฤศจิกายน 2565 นี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ Human Cell Atlas Asia 2022 (HCA Asia 2022) ณ กรุงเทพมหานคร และทางออนไลน์ โดย อาจารย์ ดร.วรดล สังข์นาค และนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยในสาขาที่เกี่ยวข้อง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจยิ่งใหญ่สร้างแผนที่มนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในครั้งนี้
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit