ชู วิจัย ยกระดับ "ข้าวไทย" เป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ชิงตลาดโลก

19 Oct 2022

ผอ.สกสว. เสนอแนวคิด "จัดลำดับความสำคัญงานวิจัย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง ชิงส่วนแบ่งตลาดโลก" ในเวทีเสวนาพิเศษชุด "ก้าวไกลด้วยระบบงานวิจัยข้าวไทยสู่การพัฒนาประเทศ"

ชู วิจัย ยกระดับ "ข้าวไทย" เป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ชิงตลาดโลก

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ที่ห้องประชุม 301 อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนาพิเศษชุด "ก้าวไกลด้วยระบบงานวิจัยข้าวไทยสู่การพัฒนาประเทศ" โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมงานเสวนา และกล่าวในหัวข้อ "ระบบการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) งานวิจัยข้าวไทยสำคัญอย่างไร" พร้อมด้วย ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวในหัวข้อ "การนำระบบงานวิจัยข้าวไทยสู่ระดับสากล" และ นายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวในหัวข้อ "งานวิจัยประเภทใดภาคอุตสาหกรรมข่าวไทยต้องการ"

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ในฐานะที่ สกสว. เป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบงานวิจัยของประเทศไทย มีความพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ทั้งในส่วนของการจัดแผนด้านแผนงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) การกำหนดเป้าหมาย และการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเด็นต่างๆ โดยโฉพาะประเด็นข้าว มีงานวิจัยหลากหลายประเด็น อาทิ ข้าวพันธุ์ใหม่ เทคโนโลยีการผลิต ผลกระทบจาก Climate Change พันธุกรรมข้าว เครื่องจักรกล คุณภาพข้าว ดินและปุ๋ย การแปรรูปข้าว เมล็ดพันธุ์ข้าว ที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวไทยให้ดียิ่งขึ้น

แต่ก่อนที่จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน จำเป็นต้องมีการจัดทำข้อมูลงานวิจัย เพื่อออกแบบแผนงานและงบประมาณให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ พร้อมกับการพิจารณาถึงโอกาสในการสร้างผลกระทบในระดับต่างๆ ได้แก่ ระดับของโอกาสในการทำวิจัยให้สำเร็จ ในแง่จำนวนของจำนวนนักวิจัยและความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย, ระดับของโอกาสการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เช่น ขนาดของตลาด หรือขนาดของผู้รับประโยชน์โดยตรง ความจำเป็นเร่งด่วน ระยะเวลาที่ผลงานวิจัยจะเริ่มส่งผลกระทบ ระยะเวลาความยาวนานที่ส่งผลกระทบ และ ระดับของบทบาทการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของภาครัฐ ความจำเป็นในการต้องได้รับทุนจากภาครัฐเนื่องจากโอกาสที่จะได้รับทุนวิจัยจากภาคส่วนอื่นน้อยหรือไม่มีเลย

ซึ่งปัจจุบัน สกสว.จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน ให้แก่หน่วยงานและมหาวิทยาลัย ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับข้าวไทย ในปี 2566 รวม 177 หน่วยงาน อาทิ กรมการข้าว 29 โครงการ กรมพัฒนาที่ดิน 18 โครงการ มหาวิทยาลัย 44 แห่ง รวมงบประมาณทั้งสิ้น 173,451,034 บาท นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ ทั้งทางมิติการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสินค้าเกษตร ระบบรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสานต่องานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวทั้งในระดับประไทยและระดับโลกในอนาคต

ด้าน นายวัลลภ มานะธัญญา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และ อยู่อันดับต้นๆของโลก โดยมีการส่งออกข้าวไทยปีละ 20 ล้านตัน แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีความถดถอยในเรื่องการส่งออกข้าวไทย สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกไปมาก จึงมีข้อเสนอว่า ประเทศไทยควรมีการปรับปรุงและพัฒนาการวิจัยข้าวใหม่ เพราะจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้จำนวนผลผลิตและกำไรมากขึ้นต่อไร่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้สามารถสร้างผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นกว่าพันธุ์เดิมที่มีอยู่ รวมถึงพัฒนาให้มีลักษณะเป็นพันธุ์ต้นเตี้ย เปลือกบาง อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานต่อโรคแมลงและศัตรูพืช เป็นข้าวไม่ไวแสง มีรสชาติดี รสชาติอร่อยตามความต้องการของผู้บริโภค หากจำนวนผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น จะเป็นผลดีทั้งต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ส่งออกข้าว รวมถึงภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องมีนโยบายประกันราคาข้าว เพราะเกษตรกรจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

ทั้งหมดที่กล่าวมา จึงเป็นประเด็น และ โจทย์ด้านการวิจัย ที่สำคัญต่อการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับชาวนา รวมถึงอุตสาหกรรมข้าวไทยต่อไป

ชู วิจัย ยกระดับ "ข้าวไทย" เป็นอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ชิงตลาดโลก
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit