สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกับ ฟิลิปส์ ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจในพื้นที่ห่างไกล

01 Nov 2022

โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases: CVDs) เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลก โดยคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 17.9 ล้านคนในแต่ละปี (ประมาณ 32% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก) นอกจากนั้น 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากโรคนี้เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร (อายุต่ำกว่า 70 ปี) สำหรับในประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดในช่วงปี 2563 อยู่ที่ 21,309 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่จำนวนแพทย์ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปีพ.ศ. 2564 มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,680 คน อีกทั้ง จำนวนแพทย์ต่อประชากรไม่ได้กระจายเท่ากันทุกพื้นที่ อย่างในกรุงเทพมหานคร อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 515 คน ในขณะที่จังหวัดเชียงใหม่อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,144 คน เป็นต้น จังหวัดกระบี่อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,977 คน จังหวัดสระแก้ว อัตราแพทย์ 1 คนต่อประชากรเฉลี่ย 3,483 คน เป็นต้น

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกับ ฟิลิปส์ ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจในพื้นที่ห่างไกล

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ (Noninvasive Cardiovascular Lab) ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพดำเนินงานโครงการซีเอสอาร์เพื่อช่วยเหลือสังคม (Corporate Social Responsibility) สนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณสุขให้กับคนไทยโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ และในปีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุน "โครงการหัวใจสัญจร" ด้วยการจัดหน่วยออกตรวจโรคหัวใจโดยแพทย์เฉพาะทาง และเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) ที่มาพร้อมระบบการจัดการข้อมูลภาพและรายงานผลสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ ให้แก่ผู้ป่วยกว่า 100 ราย ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สุพจน์ ศรีมหาโชตะ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย นอกจากการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคหัวใจอย่างถูกต้อง สมาคมฯร่วมมือกับมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในการจัดโครงการหัวใจสัญจรนี้ขึ้น โดยเป็นตัวกลางในการนำทีมแพทย์และบุคลากรมาร่วมในโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจให้รับรู้ในวงกว้าง ต้องบอกว่าโรคหัวใจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเกิดจากพันธุกรรม ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ หรืออาจเกิดจากผลของโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง และการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ในแต่ละปี ภาครัฐและประชาชนสูญเสียต้นทุนมากมายด้านโรคหัวใจสูงมาก จากข้อมูลกรมการแพทย์ ระบุว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจถึง 6,906 ล้านบาทต่อปี ตอกย้ำว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นภาระด้านสุขภาพที่ต้องการความจำเป็นเร่งด่วนในการได้รับความช่วยเหลือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่โควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ ทำให้มีผู้ป่วยรอคอยการตรวจเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ป่วยโรคหัวใจมีความเสี่ยงต่ออาการหนักหากติดโควิด-19 โดยอาจมีอาการหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น) ดังนั้น ทางสมาคมฯ มุ่งมั่นในการช่วยเผยแพร่ความรู้เชิงป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจในคนไทย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยในระยะแรกๆ อย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการรักษาทั้งด้านค่าใช้จ่ายและเวลาด้วยเช่นกัน"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ (Noninvasive Cardiovascular Lab) ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า "โรคหัวใจมีความรุนแรงและความซับซ้อน จึงต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากโรคหัวใจมีหลายประเภท อาทิ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งการรักษาโรคหัวใจก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนต้น คือ การตรวจที่มีประสิทธิภาพ แพทย์สามารถแยกประเภทและความรุนแรงของโรคหัวใจ นำไปสู่การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม การตรวจที่จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในการตรวจที่สำคัญ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) หรือเรียกย่อๆว่า Echo โดยใช้หลักการของคลื่นอัลตราซาวน์ผ่านหน้าอกผู้ป่วยไปยังหัวใจ สามารถตรวจการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ ได้แก่ การบีบและการคลายตัวของหัวใจ การปิดเปิดของลิ้นหัวใจ การตรวจลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น เครื่อง Echo สามารถเคลื่อนย้ายได้และเป็นการตรวจที่มีความปลอดภัย ไม่มีรังสีที่เป็นอันตราย ผู้ป่วยตั้งครรภ์ก็สามารถตรวจได้โดยไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น จึงได้เลือกวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจมาใช้ในการออกหน่วยในครั้งนี้ นอกจากนี้ ทางบริษัทฟิลิปส์ยังได้นำระบบจัดการข้อมูลภาพและรายงานผล มาช่วยการตรวจและเมื่อได้รับผลการตรวจแล้ว แพทย์สามารถพิจารณาข้อมูลเพื่อให้ได้แนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย"

ด้าน นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ฟิลิปส์ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น การช่วยเหลือสังคมและสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเรา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ร่วมสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีในประเทศไทย และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และจากห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ในการนำเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) และระบบการจัดการข้อมูลภาพและรายงานผลสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ (ISCV) จากฟิลิปส์มาให้บริการผู้ป่วยที่จังหวัดสระแก้วแห่งนี้ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น"

สำหรับโครงการหัวใจสัญจร เป็นโครงการที่จัดโดยความร่วมมือของมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งในครั้งนี้ ได้จัดขึ้น ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองโรคหัวใจแก่ผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำนวนกว่า 100 ราย

สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกับ ฟิลิปส์ ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจในพื้นที่ห่างไกล