กว่าจะคิดค้นและผลิตยารักษาโรคแต่ละชนิดต้องใช้เวลากว่าหนึ่งทศวรรษ และต้องอาศัยการลงทุนด้วยทรัพยากรที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่มีโรคอุบัติใหม่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอีกมากมาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤดี ธารรำลึก คณะทำงานประจำศูนย์ปฏิบัติการด้านชีววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Integrative Computational BioScience Center : ICBS) และอาจารย์ประจำสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลมหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ผู้สามารถย่อโลกการแพทย์แม่นยำ สร้างสรรค์ AI ช่วยออกแบบยา "MANORAA" หรือ "มโนรา" ขึ้นเป็นครั้งแรก
การพัฒนาระบบช่วยออกแบบยาสารโมเลกุลเล็ก เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ผู้ก่อตั้งศูนย์ ICBS มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นกลุ่มภารกิจที่รวบรวมนักวิจัยในสาขาต่างๆ ระดับแนวหน้าของมหาวิทยาลัยมหิดลมาร่วมสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแพทย์แบบบูรณาการ
กว่าจะมาเป็น AI ช่วยออกแบบยา "MANORAA" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤดี ธารรำลึก ได้มีโอกาสร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก อาทิ Professor Sir Tom Blundell ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รวมทั้ง นักวิทยาศาสตร์ระดับแถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ รองศาสตราจารย์ดร.จิรันดร ยูวะนิยม รองศาสตราจารย์ ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ดนยา ปโกฏิประภา ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูมิ สุขธิติพัฒน์ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลลิตา นฤปิยะกุล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ยิ้มวาสนา คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล Dr.Sungsam Gong มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ดร.รุจ เอกะวิภาต และนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ฯลฯ
MANORAA Project ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ "Nucleic Acids Research" ครั้งแรกเมื่อ 5 ปีก่อน ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Structure (Cell Press) ในปี พ.ศ. 2565 นี้
โดยระบบเป็นการใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ในการช่วยออกแบบและประมวลผลเพื่อการศึกษาโครงสร้างโมเลกุลยาในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อดูการจับกับโปรตีนเป้าหมายภายในร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะวางรากฐานทฤษฎีที่จะนำไปสู่ผลการรักษาที่ตรงจุดและแม่นยำ ช่วยลดงบประมาณที่จะต้องลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อดูผลการทดสอบกับตัวอย่างจริง อีกทั้งยังสามารถช่วยย่นย่อระยะเวลาในการคิดค้นและผลิตยาได้ ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปยังแหล่งความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมีการวางแผนทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ
MANORAA พร้อมเปิดให้นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สนใจสามารถเข้าศึกษา และใช้งานระบบเพื่อช่วยในการออกแบบยาด้วย Machine Learning โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ www.manoraa.org
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit