เสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 11 "กาชาด-จุฬาฯ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุข สังคมไทย" เชิญร่วมบริจาค 1,000 บาท 1 ถุงยังชีพ เพื่อผู้ประสบภัย

28 Nov 2022

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 11 เรื่อง "กาชาด-จุฬาฯ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุข สังคมไทย" โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคเงินเพื่อสภากาชาดไทย สนับสนุนสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ ในโครงการ "จุฬาฯ ช่วยกาชาด 1,000 บาท 1 ถุงยังชีพ เพื่อผู้ประสบภัย" สนับสนุนสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสพิเศษที่จะมีการจัดงานกาชาด ประจำปี 2565 "9 ทศวรรษ ใต้ร่มพระบารมี สดุดีสภานายิกาสภากาชาดไทย" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สภานายิกาสภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา และทรงดำรงตำแหน่งองค์สภานายิกาสภากาชาดไทยครบ 66 ปี

เสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 11  "กาชาด-จุฬาฯ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุข สังคมไทย" เชิญร่วมบริจาค 1,000 บาท 1 ถุงยังชีพ เพื่อผู้ประสบภัย

พล.ท.นพ.อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสภากาชาดไทย ถือว่ามีต้นกำเนิดเดียวกันจาก พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสภากาชาดไทยจะครบรอบ 130 ปีแห่งการก่อตั้ง การดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน เมื่อประชาชน มีทุกข์ที่ไหน เราไปที่นั่น ไม่ว่าสาธารณภัยนั้นจะเกิดจากมนุษย์หรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ มีภารกิจในการดูแลเตรียม "สิ่งของ" และต้องเตรียม "คน" ให้มีการ"เตรียมพร้อม" อยู่เสมอ พร้อมทั้ง "เตรียมประชาชน" ให้พร้อมรับมือต่อภัยพิบัติในสถานการณ์ต่างๆ ตลอดทั้งปี

"เราได้นำสิ่งของภายใน "ถุงธารน้ำใจ" ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่พี่น้องประชาชนบริจาคให้กาชาด นำไปส่งให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อน ประกอบด้วย ข้าวสาร 5 กิโลกรัม ข้าวกระป๋องพร้อมทาน บะหมี่ กึ่งสำเร็จรูป 30 ซอง น้ำพริก ปลากระป๋อง เทียนไข ไฟฉาย ไฟแช็ก ถุงขยะ เกลือไอโอดีน และน้ำดื่ม 1 โหล น้ำหนักโดยรวมประมาณ 15 กิโลกรัมต่อ 1 ถุง หากอยู่เป็นครอบครัว 4-5 คนสามารถใช้ได้ได้นานถึง 1 สัปดาห์ เมื่อประชาชนต้องการสิ่งใด สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ จะประเมินความเหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ และนำสิ่งของไปให้ตามที่ต้องการ" พล.ท.นพ.อำนาจ กล่าว

พล.ท.นพ.อำนาจ กล่าวต่อไปว่า สภากาชาดไทยมีสถานีกาชาด 14 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยภายในชุมชนต่างๆ เป็นการเสริมการทำงานจากภาครัฐ เพราะพื้นที่ในการดูแลจัดการกว้างขวางมาก กรณีน้ำท่วมจากพายุโนรู ในปี 2565 ซึ่งครอบคลุม 50 จังหวัด สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทยได้ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือทันที และยังมีเหล่ากาชาดจังหวัด และหน่วยบริการเคลื่อนที่ของราชการลงพื้นที่นำถุงยังชีพ "ธารน้ำใจ" ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนกว่า 206,000 ถุง นอกจากนี้สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ได้ส่งรถระนาบสูงและเรือท้องแบนไปรับส่งเพื่อการสัญจร รวมถึงการผลิตน้ำดื่มแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราทำงานหลากหลาย ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นขับรถ ขับเรือ ทำอาหาร เป็นผู้ช่วยแพทย์ และคอยติดต่อประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงเวลาที่ไม่มีสาธารณภัย สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้เตรียมพร้อมด้านกำลัง "คน" ให้มีความรู้และฝึกฝนพอเพียงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านต่างๆ และสุดท้ายคือการเตรียม "ชุมชน" ให้พร้อมรับภัยพิบัติ เพื่อลดการสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต โดยยึดหลักการกาชาด 7 ประการ ได้แก่ มนุษยธรรม (Humanity) การไม่เลือกปฏิบัติ (Impartiality) ความเป็นกลาง (Neutrality) ความเป็นอิสระ (Independence) บริการด้วยจิตอาสา (Voluntary Service) ความเป็นเอกภาพ (Unity) ความเป็นสากล (Universality)

"เราทำงานตรงนี้เพื่อสร้างความประทับใจให้พี่น้องประชาชนอบอุ่นใจ และเข้าใจในการทำงานของสภากาชาดไทย ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จะต้องนึกถึงตราสัญลักษณ์กาชาดที่อยู่ติดตัวเจ้าหน้าที่ทุกคน ดังนั้นจะเห็นเจ้าหน้าที่ของเราทักทาย ยิ้มให้ ไหว้สวย และบรรเทาทุกข์ ทำให้ทุกคนมีความสุข" พล.ท.นพ.อำนาจ กล่าวในที่สุด

คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดหารายได้กาชาด-จุฬาฯ กล่าวถึงประสบการณ์จากการที่ได้ลงไปคลุกคลีทำงานในพื้นที่จริงและได้พบผู้ประสบภัย ของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เช่น เหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 ทุกธารน้ำใจทุกความร่วมมือหลั่งไหลมาที่สภากาชาดไทย ทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจำนวนมาก ปัจจุบันสำนักงานบรรเทาทุกข์ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมและเสริมความยืดหยุ่น เพื่อสร้างความคล่องตัว มีทั้ง ถุงยังชีพที่เป็นมาตรฐานและถุงยังชีพที่เหมาะสมต่อสภาวะต่างๆ โดยในสถานการณ์การระบาดโรค โควิด-19 ได้มีการส่งมอบ "ถุงธารน้ำใจ" เป็นถุงยังชีพลงไปในพื้นที่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเหล่ากาชาดที่ประจำอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศ โดยสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ ได้ประสานงานในการให้การช่วยเหลือของอาสาสมัครสาธารณสุขที่เข้าไปดูแลและให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน

คุณชัยวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่าสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ มีอีกหน้าที่หนึ่งในการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงมอบหมายให้มีการทำอาหารแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคและจากภาวะเศรษฐกิจ

"การช่วยเหลือเป็นการ "ให้" อีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่สิ้นสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุนหาทุนให้กับหน่วยงานของสภากาชาดไทยไว้ใช้ทั้งในสถานการณ์ที่มีผู้ประสบภัย และในกรณีที่ยังไม่มีภัยต่างๆ เพื่อดูแลด้านสุขอนามัย ทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมของสภากาชาดไทยในจังหวัดต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนทั่วไปที่ต้องการบริจาคเพื่อระดมทุนให้กับสภากาชาดไทยเนื่องในโอกาสงานกาชาดปี 2565 จะเป็นการรวมพลังเพื่อสร้างประโยชน์สุขอันมหาศาล เพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนในสังคม" คุณชัยวัฒน์กล่าว

คุณภูศิลป์ วารินรัฃกษ์ (เต๋า ภูศิลป์ นักแสดง-นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดัง) อดีตกุลบุตรกาชาด และมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม จุฬาฯ กล่าวว่าทั้งสภากาชาดไทยและจุฬาฯ ได้ระดมความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเมื่อเกิดสาธารณภัยต่างๆ เต๋า ภูศิลป์เป็นคนอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ทำให้ทางสัญจรหลักถูกตัดขาดไป สิ่งที่เชื่อมโยงพี่น้องประชาชนอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบได้เดินทางสัญจรไปมาก็คือการได้เห็นรถบรรทุกที่ติดสัญลักษณ์จากสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทยที่มาให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำให้ชาวอุบลราชธานีมีความรู้สึกว่าไม่ได้สู้เพียงลำพัง เมื่อได้เห็นสัญลักษณ์ของ"สภากาชาดไทย" ก็รู้สึกอุ่นใจและชุ่มชื้นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก

"ผมลงไปในพื้นที่ ได้พบผู้ประสบภัย และตัวผมเองก็เคยเป็นผู้ประสบอุทกภัยซึ่งหมู่บ้านหรือพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไฟฟ้าโดนตัด ทำให้ไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ "ถุงยังชีพ" บางคนเจอเครื่องหมายกาชาด ได้รับถุงธารน้ำใจ ทำให้พี่น้องที่ประสบภัยรู้สึกว่าเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง" เต๋า ภูศิลป์ เผยถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการทำหน้าที่กุลบุตรกาชาด

ถุงยังชีพ "ธารน้ำใจ" ไม่ใช่เรื่องของอุทกภัยเท่านั้น บทบาทที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ถุงยังชีพได้ช่วยเหลือประชาชนเป็นอย่างมาก "กล่องยา" ที่ผู้ป่วยได้รับในภาวะที่โรงพยาบาลไม่พอเพียง และผู้ป่วยต้องเข้าสู่ระบบการกักตัว (Home Isolation) ทุกวันจะมีพยาบาลค่อยเช็คอาการตลอด ไม่ได้เลือกว่าผู้ป่วยจะเป็นใคร แต่ทำให้กับทุกๆ คน ให้การดูแลอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ ทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจเป็นอย่างมากที่ได้อยู่ในการดูแลของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล Chief Brand Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการเสวนา กล่าวว่า "การทำบุญที่พิเศษและมีคุณค่ามาก คือการทำบุญที่เราไม่ได้เลือกผู้รับ" งานกาชาดปีนี้แม้จุฬาฯ จะไม่มีการจำหน่ายสลากกาชาดดังเช่นที่ผ่านมา แต่ทุกท่านยังมีส่วนร่วมบำรุงกาชาดได้เช่นเดิม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอเชิญทุกท่านมาร่วมด้วยช่วยกันสร้างบุญใหญ่แห่งธารน้ำใจที่จะไหลมาร่วมกันเพื่อประโยชน์ของสังคม โดยร่วมบริจาคเงินสนับสนุนสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ในโครงการ "จุฬาฯ ช่วยกาชาด 1,000 บาท 1 ถุงยังชีพ เพื่อผู้ประสบภัย" สามารถบริจาคได้ตั้งแต่บัดนี้ - 25 ธันวาคม 2565 ผ่าน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

(1) โอนเงินบัญชี SCB "เงินกาชาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เลขที่บัญชี 045-226703-8
(2) หากบริจาค 1,000 บาทขึ้นไปกรอกแบบฟอร์มในลิงค์ https://form.jotform.com/222712879943467
(3) รอรับใบเสร็จส่งถึงบ้านและได้หักลดหย่อนภาษี 2 เท่า

ผู้ที่บริจาคจำนวน 50,000 บาทขึ้นไป จะได้รับพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เนื้อโลหะ ขนาดสูง 69 ซม. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย

เสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 11  "กาชาด-จุฬาฯ บรรเทาทุกข์ บำรุงสุข สังคมไทย" เชิญร่วมบริจาค 1,000 บาท 1 ถุงยังชีพ เพื่อผู้ประสบภัย