ธ.ทิสโก้พลิกวิธีวางแผนลดหย่อนภาษีแบบใหม่ ในคอนเซ็ปต์ Megatrends Retirement Planning ปั้นรีเทิร์นสูง-สร้างรายได้ประจำ-คุ้มครองสุขภาพหลังเกษียณ

06 Dec 2022

ธนาคารทิสโก้แนะวิธีวางแผนภาษีปลายปี พร้อมวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณภายใต้คอนเซ็ปต์ Megatrends Retirement Planning ด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การวางแผนการลงทุน ผ่านกองทุนเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่เน้นลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ จีน และเวียดนาม 2. การเพิ่มความมั่นคงรายได้ในวัยเกษียณ ผ่านประกันบำนาญ และ 3. การวางแผนประกันสุขภาพและประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง

ธ.ทิสโก้พลิกวิธีวางแผนลดหย่อนภาษีแบบใหม่   ในคอนเซ็ปต์ Megatrends Retirement Planning ปั้นรีเทิร์นสูง-สร้างรายได้ประจำ-คุ้มครองสุขภาพหลังเกษียณ

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงที่คนไทยให้ความสนใจต่อการซื้อกองทุนและประกัน เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การวางแผนเกษียณในระยะยาวมีศักยภาพยิ่งขึ้น ธนาคารทิสโก้ จึงแนะนำว่าควรจะหันมาให้ความสำคัญ ในด้านการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษี ภายใต้คอนเซ็ปต์ Megatrends Retirement Planning ซึ่งเป็นการวางแผนการเกษียณรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยทำให้การวางแผนการเงินเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระดับสูง รวมถึงช่วยในเรื่องการปิดความเสี่ยงของวัยเกษียณได้ดีขึ้น จากเดิมที่เป็นการเน้นวางแผนสำหรับลดหย่อนภาษีรายปี

สำหรับในปี 2565 ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ลงทุนลดหย่อนภาษีผ่านกองทุนคุณภาพที่เน้นธุรกิจแห่งอนาคต (Megatrends Investment) และปกป้องความเสี่ยงหลังเกษียณที่สอดรับกับกระแสโลก (Megatrends Protection) ด้วยประกันบำนาญที่มุ่งสร้างผลประโยชน์สูงสุดในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย และประกันโรคร้ายแรงที่มีทุนประกันสูง โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้

1. "การวางแผนการลงทุน" ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่งคั่งและสร้างเงินก้อนก่อนเกษียณ ผ่านกองทุนลดหย่อนภาษี กองทุนเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่นอกจากได้ประโยชน์ด้านการประหยัดภาษีแล้ว นักลงทุนสามารถออกแบบพอร์ตการลงทุนที่เน้นหุ้นในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงในระยะยาวตาม Megatrends เช่น หุ้นกลุ่ม Technology และ Health Care ที่เป็นสินค้าและบริการที่มีความต้องการเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสังคมผู้สูงอายุและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยหุ้นกลุ่ม Technology (MSCI ACWI Information Technology) และ Health Care (MSCI ACWI Health Care) มีผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี ( ณ วันที่ 31 ต.ค. 2565) เฉลี่ยปีละ 16.47% และ 11.87% ตามลำดับ มากกว่าผลตอบแทนดัชนี MSCI ACWI ที่เติบโตเพียง 8.54%

รวมไปถึงหุ้นในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในระยะยาว อย่างเช่น จีน และเวียดนาม ที่ปีนี้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนมูลค่าหุ้น (Valuation) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Forward P/E) ของดัชนี MSCI China และ ดัชนี Vietnam ปัจจุบันอยู่ที่ 10.33 เท่า และ 9.45 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ 10.62 เท่า และ 12.28 เท่าตามลำดับ แต่การเติบโตในระยะยาวยังถือว่าดีอยู่ โดยนักลงทุนสามารถที่จะออกแบบพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณและกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว การสร้างความมั่งคั่งและเงินก้อนก่อนเกษียณที่มากเพียงพอ

นอกจากนี้ SSF ยังลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วน RMF จะลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนี้ เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ แล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

2."การเพิ่มความมั่นคงรายได้ในวัยเกษียณ" จากการสร้างระบบบำนาญส่วนตัวให้กับตนเองได้ ผ่านการทำ "ประกันชีวิตแบบบำนาญ" ซึ่งเป็นประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันจ่ายเบี้ยประกันไปในช่วงก่อนเกษียณ เพื่อที่จะได้รับเงินบำนาญที่สม่ำเสมอตลอดช่วงหลังเกษียณที่จ่ายผลประโยชน์ยาวนานถึง 99 ปี เพื่อตามอายุขัยเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เราควรเลือกกรมธรรม์ที่จ่ายเงินผลประโยชน์ช่วงหลังเกษียณอายุสูง อาทิ จ่ายผลประโยชน์ให้ปีละ 24% ของทุนประกัน อีกทั้งยังต้องมีความยืดหยุ่นให้ผู้รับประโยชน์สามารถเลือกความถี่ของการรับเงินผลประโยชน์ได้ แบบรายปีหรือรายเดือน เสมือนการมีแหล่งรายได้ที่มั่นคงในยามเกษียณ

สำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท แต่เมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

3."การวางแผนประกันสุขภาพและประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง" ที่จะทำหน้าที่ในการปกป้องความมั่งคั่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลักในวัยเกษียณมักจะเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นมากกว่า 9% ต่อปี โดยการวางแผนซื้อประกันสุขภาพเบื้องต้นแนะนำความคุ้มครองค่ารักษาอย่างน้อย 3 - 5 ล้านบาท ครอบคลุมค่าห้องพักเดี่ยวมาตรฐานทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคุ้มครองสูงสุดถึงอายุ 99 ปี ส่วนประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงที่เน้นรับเงินก้อนเพื่อการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยให้คุณภาพการรักษาพยาบาลดียิ่งขึ้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่สามารถเคลมกับประกันสุขภาพได้ ทั้งนี้ควรเน้นแบบที่ให้ความคุ้มครองกลุ่มโรคร้ายแรงมากที่สุดและจ่ายผลประโยชน์สูงสุดเมื่อเราเป็นระยะเริ่มต้น และไม่มีระยะเวลารอคอยระหว่างกลุ่มโรค ทั้งนี้ประกันสุขภาพและประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงควรเริ่มต้นทำให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆทางด้านสุขภาพที่มักจะเสื่อมสภาพไปตามอายุ

นอกจากนี้ ประกันสุขภาพและประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 1 แสนบาท