เผยโฉมนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ เจ้าของผลงานนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จากโครงการ "PTTEP Teenergy ปีที่ 8"

15 Dec 2022

ท้องทะเล ถือเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติสำคัญ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันปกป้องดูแลได้ บริษัท ปตท .สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เล็งเห็นถึงศักยภาพและพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ จึงจัดกิจกรรม การประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 2 (The 2nd Young Ocean for Life Innovation Challenge) ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 900,000 บาท ใน โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 8 ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ทะเลเพื่อชีวิต" (Ocean for Life) เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

เผยโฉมนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ เจ้าของผลงานนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จากโครงการ "PTTEP Teenergy ปีที่ 8"

ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล ปตท .สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ. มีความตั้งใจให้โครงการนี้เป็นเวทีให้น้องๆ นิสิต นักศึกษา ระดับ ปวส. และปริญญาตรี มาร่วมแสดงไอเดีย เพื่อร่วมปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ปตท.สผ. ภูมิใจอย่างยิ่งที่เยาวชนไทยเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และขอชื่นชมทุกผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดทุกทีม

ด้านตัวแทนคนรุ่นใหม่หัวใจอนุรักษ์ ที่ชนะเลิศการประกวดทั้ง 3 หัวข้อ ได้แก่ Protect, Preserve และ Provide ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม เริ่มต้นที่ทีม THE GOLDEN MERMAIDS เจ้าของรางวัลชนะเลิศ หัวข้อ Protect กับผลงาน "นวัตกรรมทุ่นดักจับขยะอัจฉริยะบริเวณปากคลองเพื่อสกัดขยะไหลลงสู่ทะเล และเรือสามารถผ่านได้" โดย น.ส.นริศรา ทองสุกแสง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้เล่าถึงแนวคิดเกี่ยวกับผลงานว่า

"พวกเราได้เห็นถึงปัญหาขยะทะเลและชายฝั่งของชุมชนบาลาเซาะห์เก้าแสน ถึงแม้จะได้รับการสนับสนุนทุ่นเพื่อดักจับขยะมาติดตั้ง แต่เรือไม่สามารถผ่านเข้า-ออกได้ จึงจำเป็นที่จะต้องตัดทุ่นดักจับขยะเพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น เราจึงพัฒนา นวัตกรรมทุ่นดักจับขยะอัจฉริยะบริเวณปากคลอง เพื่อสกัดและป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเล โดยเรือสามารถแล่นผ่านได้ พร้อมทั้งเสริมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านการแจ้งเตือนปริมาณขยะทางแอปพลิเคชัน LINE ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลและชาวบ้านในชุมชน อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการเดินเรือที่เกิดขึ้นภายในชุมชนได้อีกด้วย"

ในขณะที่ ทีม Blue 16 เจ้าของรางวัลชนะเลิศ หัวข้อ Preserve ด้วยผลงาน "กล่องฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล: เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งทะเลและเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอน (Seagrass bed recolonization box for coastal restoration and carbon sequestration)" น.ส.ภัคจิรา กาญจนวิชานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าแนวคิดเกี่ยวกับผลงานว่า

"จากการที่เราได้เข้าค่ายปลูกหญ้าทะเล แล้วพบปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเล พวกเราจึงรวมตัวกันเพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ผ่านกระบวนการ Design Thinking บูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา จึงเกิดเป็น "กล่องฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล" โดยนวัตกรรมฟื้นฟูแหล่งปลูกหญ้าทะเล จะช่วยเพิ่มโอกาสรอด และเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตให้กับหญ้าทะเล อีกทั้งยังสามารถดักจับตะกอนดิน และเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอน และอีกเป้าหมายของการพัฒนานวัตกรรมนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยสร้างทุ่งหญ้าทะเล (seagrass bed) ได้ในเวลาที่สั้นลง มีอัตราการรอดชีวิตสูง ให้ทะเลมีแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหาร แหล่งอาศัย แหล่งอนุบาล ของสัตว์น้ำต่าง ๆ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น"

ปิดท้ายกับ รางวัลชนะเลิศ หัวข้อ Provide กับผลงาน "เพื่อนประมง (Fisherman's friend)" โดยทีม Sea the future น.ส.ญาดาวดี ใจประสพ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าแนวคิดเกี่ยวกับผลงานว่า

"แรงบันดาลใจที่ทำให้เราคิดค้นแอปพลิเคชัน "เพื่อนประมง" จุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหาการเพาะเลี้ยง "หอยแมลงภู่" ซึ่งเป็นการทำประมงหลักในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล และอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่กลับพบอุปสรรคมากมายในปัจจุบัน พวกเราจึงคิดค้นแอปพลิเคชันนี้ขึ้น เพื่อจะรวบรวมข้อมูลกระแสน้ำ แบบจำลองคาดการณ์ทางสมุทรศาสตร์ต่าง ๆ และข้อมูลทางทะเลบริเวณชายฝั่ง จากทุ่นที่ติดตั้งกลางทะเล ช่วยให้ชาวประมงเข้าถึงข้อมูลทางทะเลได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเข้าใจง่าย ลดผลกระทบต่อการทำอุตสาหกรรมประมงในอนาคต"

สำหรับกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในครั้งนี้ มีน้อง ๆ เยาวชน ให้ความสนใจร่วมส่งผลงานเข้าประกวดถึง 79 ผลงาน ของผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 300 คน จาก 27 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งเวทีดีๆ ที่จุดประกายให้เยาวชนไทยได้สรรค์สร้างผลงานนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป