วว. จับมือพันธมิตรจัดเวทีเสวนา "น้ำดื่มจากน้ำฝน ลดโลกร้อน" เสริมสร้างศักยภาพชุมชน บริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมขยายโครงการสู่เทศบาลนครเกาะสมุย

16 Dec 2022

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับพันธมิตรจังหวัดสงขลา ได้แก่ จังหวัดสงขลา อำเภอระโนด องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านขาว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และชุมชนบ้านขาวหมู่ 2 ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง "น้ำดื่มจากน้ำฝน ลดโลกร้อน" ภายใต้การดำเนินโครงการการเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนบริหารจัดการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน พร้อมขยายผลโครงการไปยังเทศบาลนครเกาะสมุย มุ่งให้ชุมชนมีน้ำสะอาดที่มีคุณภาพใช้อย่างเพียงพอ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนด้วยเทคโนโลยี รองรับสังคมคาร์บอนต่ำ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนชุมชนวัดบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

วว. จับมือพันธมิตรจัดเวทีเสวนา "น้ำดื่มจากน้ำฝน ลดโลกร้อน" เสริมสร้างศักยภาพชุมชน บริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมขยายโครงการสู่เทศบาลนครเกาะสมุย

การเสวนา "น้ำดื่มจากน้ำฝน ลดโลกร้อน" วว. ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ถ่ายทอดความรู้และแสดงข้อคิดเห็นประกอบด้วยประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ได้แก่ ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โมเดลทางธุรกิจ (กลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชน) กองทุนน้ำดื่มหมู่บ้าน โดยมีหน่วยงานพันธมิตร ประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง นอกจากนี้ยังมีการเยี่ยมชมชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนในพื้นที่นำร่องโครงการฯ ณ โรงเรียนชุมชนวัดบ้านขาว หมู่ 3 และบ้านผู้นำชุมชน หมู่ 2 อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พร้อมตรวจสอบคุณภาพน้ำ เช่น ความกระด้าง และโคลิฟอร์ม ในแต่ละครัวเรือนด้วย

นายเฉลิมพันธ์ ยินเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา ประธานเปิดการเสวนาฯ กล่าวว่า จังหวัดสงขลามียุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด มุ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ ประชาชนมีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน มีประชากร 1.436 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ (รองจากนครศรีธรรมราช) มีขนาดพื้นที่ 7,394 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคใต้ (รองจากสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) มีพื้นที่ติดกับจังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา สตูล และยังมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐไทรบุรีและรัฐปะลิสของประเทศมาเลเซีย โครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา ขึ้นอยู่กับสาขาอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยกิจกรรมการผลิตที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมต่อเนื่องกับยางพารา อุตสาหกรรมแปรูปและถนอมสัตว์น้ำ รองรับการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ ซี่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากการที่ วว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาพัฒนาชุมชนในจังหวัดให้มีน้ำสะอาดที่มีคุณภาพใช้อย่างเพียงพอ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ด้วยเทคโนโลยีที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รองรับสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องน้ำ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมดำเนินงานโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพของพี่น้องประชาชนของจังหวัดสงขลาต่อไปในอนาคต

"...ผลจากการดำเนินงานของโครงการนี้ จะเป็นโมเดลต้นแบบสู่การขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศไทย ในการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนหรือน้ำฝนพร้อมดื่ม โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ลงทุนระบบ และเก็บค่าใช้น้ำจากชุมชนในแต่ละครัวเรือน ซึ่งจะสามารถลดภาระการจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำ ลดการใช้ไฟฟ้าและสารเคมีในการผลิตน้ำประปาให้กับเมืองและชุมชน นอกจากนี้ยังจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องน้ำ และมีน้ำสะอาดที่มีคุณภาพใช้อย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม..." ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลากล่าว

ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวว่า วว.และพันธมิตรร่วมดำเนินโครงการการเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนบริหารจัดการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในหัวข้อที่ 6 เรื่องน้ำสะอาดและสุขาภิบาล หัวข้อที่ 11 เรื่องความยั่งยืนของเมืองและชุมชน และหัวข้อที่ 13 การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้ได้ติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนและผลิตน้ำประปาพร้อมดื่ม แจกจ่ายให้กับจังหวัดสงขลา ในพื้นที่ชุมชน อบต.บ้านขาว หมู่ที่ 2 และ 3 โดยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ที่ 0.437 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และอยู่ระหว่างการจัดตั้งเป็นกองทุนน้ำดื่มหมู่บ้าน สำหรับเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีรูปแบบการจัดสรรกองทุนในการบริหารจัดการค่าดำเนินการ ทั้งนี้มีข้อยืนยันจากการประเมินความเป็นไปได้ในทางเทคโนโลยีพบว่า คุณภาพน้ำประปาที่ผลิตได้จากโครงการฯ ผ่านเกณฑ์การยอมรับของกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลก ส่วนการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจากโลหะหนักและจุลินทรีย์พบว่า ค่าสัดส่วนความเสี่ยงอันตราย มีค่า 0.014 ซึ่งมีค่าต่ำกว่า 1 แสดงว่า น้ำประปาที่ได้จากน้ำฝน ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ สามารถนำมาใช้ได้ทั้งบริโภคและอุปโภค ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพจากโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

"...นอกจากนี้ทีมวิจัย วว. ได้ขยายผลของโครงการ โดยได้นำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการให้กับเทศบาลนครเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้ผลสรุปจากการนำเสนอแผนงานว่าเทศบาลนครเกาะสมุยต้องการต้นแบบชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน โดยให้วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในเทศบาลนครเกาะสมุย ดำเนินการติดตั้งต้นแบบชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนจำนวน 1 ชุด เพื่อทดลองผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน และน้ำบาดาลในพื้นที่เกาะสมุย เพื่อประเมินราคาต้นทุนในพื้นที่ให้กับเทศบาลนครเกาะสมุยในการตั้งงบประมาณ เพื่อการขยายผลไปยังโรงเรียนเทศบาลทั่วทั้งเกาะสมุยต่อไป..." รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าว

วว. จับมือพันธมิตรจัดเวทีเสวนา "น้ำดื่มจากน้ำฝน ลดโลกร้อน" เสริมสร้างศักยภาพชุมชน บริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมขยายโครงการสู่เทศบาลนครเกาะสมุย