วิศวะมหิดล-ก.อุตสาหกรรม สรุปผลโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย...สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 เขตพื้นที่ 2 คาดผลิตภาพ SMEs เพิ่มขึ้น 40%

27 Dec 2022

 

วิศวะมหิดล-ก.อุตสาหกรรม สรุปผลโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย...สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 เขตพื้นที่ 2 คาดผลิตภาพ SMEs เพิ่มขึ้น 40%

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) ผนึกความร่วมมือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนาสรุปผลโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย...สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 เขตพื้นที่ 2 ซึ่งมุ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ และพัฒนาบุคลกรภายในสถานประกอบการให้มีทักษะที่จำเป็น เผยการให้คำปรึกษาและทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ จะยกระดับผลิตภาพ SMEs เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 250 ล้านบาท ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) กล่าวถึง เทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ว่า การยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องจักร ระบบคอนโทรล ต่างๆ ยังมีอีกส่วนที่สำคัญ คือการคัดสรรเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาและสนับสนุนการดำเนินงานเอสเอ็มอีได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น Big Data, AI, Cloud Computing, 3D Printing, ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ (Robotics) ซึ่ง 80% เป็นหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรม (Industrial Robotics) ปัจจุบันระบบนิเวศอุตสาหกรรมของไทยมีความพร้อมมากขึ้น และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมกับอุตสาหกรรมนั้นมีราคาถูกลง สามารถตอบโจทย์และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด เพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ประหยัดพลังงาน ช่วยลดต้นทุนในยุคที่แรงงานมีทักษะขาดแคลน

โครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย...สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 นับเป็นการขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ สำหรับบทบาทของ หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยทำงานร่วมกับคนในภาระงานหนักหรืองานทำซ้ำ ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกและแม่นยำ ด้วยระบบต่างๆ อาทิ ระบบควบคุมคอนโทรลเส้นทาง ระบบเซนเซอร์ เป็นต้น อีกทั้งเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมและประเทศไทยด้วย ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) ที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด และอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่มีความชำนาญสูง และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ

ดร.ทรงพล องค์วัฒนกุล หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Engineering) กล่าวว่า ผลการดำเนินโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 พื้นที่ 2 ช่วยยกระดับความก้าวหน้าของเอสเอ็มอีไทยในเขตพื้นที่ 2 ซึ่งครอบคลุม 36 จังหวัด โดยทีมงานวิศวะมหิดลได้ลงพื้นที่สำรวจโรงงานและจัดฝึกอบรม ผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์ วางแผนและให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 65 ราย  จากการให้คำปรึกษาและทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน (Feasibility Study) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ คาดว่าในอนาคตผู้ประกอบการจะมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 40 % หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 250 ล้านบาท

ทั้งนี้โครงการฯ ได้คัดเลือก 5 บริษัทเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาของเอสเอ็มอี (SMEs) ได้แก่ บจก. ดับบลิว.ไอ.พี. อีเล็คทริค ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและหลอดไฟ จ.ปทุมธานี บจก. ยูเนี่ยน แอพพลาย ผู้ผลิตกระบอกไฮดรอลิก จ.ปทุมธานี บจก. ไทยฟอร์โมซาพลาสติกอินดัสทรี ผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอพลาสติก จ.นครปฐม  บจก. ภัทรอุตสาหกรรม ผู้ผลิตตู้ไฟฟ้าและสวิทช์บอร์ด จ.นนทบุรี บจก. แอ๊ดวานซ์ แมททีเรียล ซัพพลาย ผู้ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาและเซรามิก จ.ลำปาง

วิศวะมหิดล-ก.อุตสาหกรรม สรุปผลโครงการพลิกธุรกิจ SMEs ไทย...สู่การผลิตสมัยใหม่ 4.0 เขตพื้นที่ 2 คาดผลิตภาพ SMEs เพิ่มขึ้น 40%