ม.มหิดล พัฒนา "เรือนเสมือนญาติ" เพื่อผู้ป่วยยากไร้ สู่ความยั่งยืนผ่านงานจิตอาสา

10 Jan 2023

ที่สุดของ "การให้" ไม่ใช่เพียงการให้ทรัพย์สินเงินทองเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ แต่คือการให้ "โอกาส"

ม.มหิดล พัฒนา "เรือนเสมือนญาติ" เพื่อผู้ป่วยยากไร้ สู่ความยั่งยืนผ่านงานจิตอาสา

ซึ่ง "เรือนเสมือนญาติ" ที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และวัดอมรินทรารามวรวิหาร ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลศิริราชได้มี "ที่พักฉุกเฉิน" ระหว่างการเข้ารับรักษานั้น ปัจจุบันยังคงส่งต่อ "โอกาส" ซึ่งเปรียบเหมือน "ถังออกซิเจน" ให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสรายอื่นๆ ได้มี "อากาศหายใจ" จากการได้มีที่พักพิง และกำลังใจสู้โรคภัยไข้เจ็บต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับท่านพระครูสมุห์ญาณภพ ยตินฺธโร เมฆอรุณ หัวหน้าพระบัณฑิตอาสา วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งโครงการ "เรือนเสมือนญาติ" ซึ่งเปรียบเหมือน "ถังออกซิเจน" สำหรับผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลศิริราชได้หายใจพึ่งพิง โดยการเข้าพักได้รับการดูแลโดย คุณส่งศรีเมืองทอง หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลศิริราช

ด้วยแนวคิดที่จะทำให้โรงพยาบาลและวัดได้ร่วมเป็นที่พึ่งของประชาชน จึงได้สร้าง "เรือนเสมือนญาติ" ขึ้นเป็นที่พักฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยและญาติได้อาศัยยามยากภายในบริเวณวัดอมรินทรารามวรวิหาร ซึ่งอยู่ใกล้มือหมอ

เนื่องจากทั้งโรงพยาบาลศิริราช และวัดอมรินทรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวง ซึ่งมีพื้นที่จำกัด "เรือนเสมือนญาติ" จึงได้รับการออกแบบโดยเน้นการใช้สอยในพื้นที่อันจำกัดให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จำเป็นอย่างครบครั

โดยที่ผ่านมาได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้บริจาคผ่าน "ศิริราชมูลนิธิ" เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติได้มีโอกาสใช้เวลาอยู่ร่วมกันและดูแลกัน โดยมีวัดเป็นที่พึ่งทางใจ

ท่านพระครูสมุห์ญาณภพ ยตินฺธโร เมฆอรุณ กล่าวเพิ่มเติมในฐานะผู้ดูแล "เรือนเสมือนญาติ" แห่งวัดอมรินทรารามวรวิหาร ว่า ปัจจุบัน "เรือนเสมือนญาติ" ไม่ได้เป็นเพียงที่พักพิงของผู้ป่วยและญาติที่มารอเข้ารับการรักษาและติดต่อโรงพยาบาลศิริราชที่อยู่ใกล้กับวัดอมรินทรารามวรวิหารเท่านั้นแต่ยังเป็นที่พักของพระภิกษุและสามเณรจากภายนอกวัดอมรินทรารามวรวิหาร ทั้งที่มีนัดและไม่มีนัดกับโรงพยาบาลศิริราช

ดำเนินการโดยยึดหลักพระพุทธศาสนาว่าด้วยการพึงให้ที่พึ่งพิงแก่พระภิกษุสงฆ์จาก 4 ทิศ โดยได้จัดให้ชั้นบนของ"เรือนเสมือนญาติ" เป็นที่พักสำหรับพระภิกษุและสามเณรจากภายนอกวัดอมรินทรารามวรวิหารที่เป็นผู้ป่วยซึ่งมาติดต่อกับโรงพยาบาลศิริราชด้วย และยังได้ทำให้ผู้ป่วยและญาติได้มี "ที่พึ่งทางใจ" จากมุมที่จัดไว้ให้โดยเฉพาะสำหรับสวดมนต์ ไหว้พระ ฟังเทศน์ ฟังธรรมก่อนนอนในทุกวัน

ผู้ป่วยสูงวัยยากไร้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากของโรงพยาบาลศิริราชรายหนึ่งจากจังหวัดทางภาคใต้ แพทย์เจ้าของไข้กำหนดให้เข้ารับการฉายแสงที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 37 วัน โดยต้องรอเข้ารับการฉายแสงช่วงหยุดยาวปีใหม่ รู้สึกประทับใจในความเอื้อเฟื้อจากโรงพยาบาลศิริราช และวัดอมรินทรารามวรวิหาร ที่ให้โอกาสได้เข้าพัก ณ "เรือนเสมือนญาติ" ที่ "อยู่แล้วสบายใจ" แห่งนี้

ซึ่งการได้ที่พักใกล้โรงพยาบาลทำให้ไม่ต้องกังวลในเรื่องการเดินทาง โดยส่วนตัวมองว่าความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา หากมีกำลังใจดี ก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ "เรือนเสมือนญาติ" ยังได้เปิดโอกาสให้ญาติผู้ป่วยที่เป็นโยมฝ่ายชายคอยช่วยเหลือพระบิณฑบาตร และแบ่งปัน "อาหารก้นบาตร" มารับประทาน เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในแต่ละมื้อของครอบครัว

ในขณะที่ญาติผู้ป่วยซึ่งเป็นโยมฝ่ายหญิงยังสามารถทำหน้าที่จิตอาสา คอยปัดกวาดเช็ดถูดูแล "เรือนเสมือนญาติ" ให้สะอาดและน่าอยู่เสมอระหว่างการเข้าพักอาศัย

สิ่งที่ได้คือ "ความภาคภูมิใจ" จากการได้ "บำเพ็ญประโยชน์" และส่งต่อ "ความทรงจำดีๆ" ระหว่างได้มาพักที่  "เรือนเสมือนญาติ" ผ่าน "งานจิตอาสา"

3 ปีที่ "เรือนเสมือนญาติ" ทำหน้าที่เปรียบเหมือน "ถังออกซิเจน" เติมลมหายใจให้กับผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราชนั้น ได้รับแรงศรัทธาจากปวงชนชาวไทยอย่างไม่ขาดสาย และยังคงทำหน้าต่อไปด้วยความเชื่อมั่นใน "คุณค่าของความเป็นมนุษย์" โดยให้ความสำคัญต่อทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมต่อไป

ผู้มีจิตศรัทธาที่มีความประสงค์จะร่วมบริจาคสมทบกองทุน"เรือนเสมือนญาติ" ผ่าน "ศิริราชมูลนิธิ" โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ ติดต่อได้ที่โทร. 0-2419-7658-60

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่  www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

.

ม.มหิดล พัฒนา "เรือนเสมือนญาติ" เพื่อผู้ป่วยยากไร้ สู่ความยั่งยืนผ่านงานจิตอาสา