กทม.ขยายพื้นที่จัดดนตรีในสวนครอบคลุม 6 กลุ่มเขต พร้อมประเมินผลการจัดงานทุกครั้ง

24 Jan 2023

นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตเรื่องการประกวดราคาโครงการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนและการจัดกิจกรรมที่สวนเสรีไทยมีผู้เข้าร่วมน้อยว่า กรุงเทพมหานคร โดย สวท.ได้จัดกิจกรรมดนตรีในสวนกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 โดยดำเนินการจ้างเหมาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งปฏิบัติตามขั้นตอนและแนวทางที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ตลอดจนระเบียบและหนังสือสั่งการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมยื่นซองประกวดราคาทั้งหมด 4 ราย และมีผู้เสนอราคา 2 รายที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการในการจัดงานที่เกี่ยวกับด้านดนตรี ตามที่ได้กำหนดไว้ในประกาศประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ฯ ข้อ 7 ว่า "เป็นนิติบุคคลผู้มีอาชีพรับจ้างงานที่ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว" ทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้เป็นผู้เข้ายื่นข้อเสนอเพียง 2 ราย คณะกรรมการฯ จึงพิจารณาเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดและเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาฯ เป็นเงิน 7,330,000 บาท

กทม.ขยายพื้นที่จัดดนตรีในสวนครอบคลุม 6 กลุ่มเขต พร้อมประเมินผลการจัดงานทุกครั้ง

โดยในปีนี้มีแนวคิดริเริ่มการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 6 กลุ่มเขต เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ส่วนการเลือกสวนเสรีไทยเป็น 1 ใน 12 สวนของการจัดกิจกรรม เนื่องจากการจัดกิจกรรมดนตรีในสวนที่ผ่านมามักจะดำเนินการในพื้นที่กลางเมืองเป็นหลัก กทม.จึงได้กำหนดแผนที่จะขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สวนธนบุรีรมย์ สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (บางขุนนนท์) เป็นต้น ซึ่งได้เคยจัดกิจกรรมฯ มาแล้ว เมื่อวันที่ 7 ส.ค.65 ได้รับผลตอบรับที่ดีและมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจำนวนมาก

ส่วนกรณีที่ระบุการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ม.ค.66 ณ สวนเสรีไทยมีผู้มาร่วมกิจกรรมน้อย ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ดำเนินการ นั้น จากการตรวจสอบการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ การเตรียมงาน และการจัดงานไม่พบปัญหาและอุปสรรค วงดนตรีที่เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย วงดนตรีของประชาชนและศิลปิน ซึ่งมีความสามารถ อย่างไรก็ตาม สวท.ไม่ได้ละเลย หรือนิ่งนอนใจจะประเมินผลการจัดงาน เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อนของการจัดงานและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วนที่สุด เพื่อมิให้เกิดประเด็นความไม่คุ้มค่ากับงบประมาณขึ้นอีก ทั้งนี้ การจัดงานแต่ละครั้ง สวท.ได้ประเมินผลการจัดงานในด้านต่าง ๆ เช่น การประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์ การเตรียมการก่อนแสดง ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม และปัญหาอุปสรรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น หากเกิดปัญหา เช่น การแสดงดนตรีไม่ตรงกับรสนิยม หรือความชอบของประชาชนในพื้นที่จัดกิจกรรมนั้น ๆ หรือจำนวนผู้ชมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะปรับเปลี่ยนแนวดนตรี หรือรูปแบบการแสดงให้เป็นที่พึงพอใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่อไป

กทม.ขยายพื้นที่จัดดนตรีในสวนครอบคลุม 6 กลุ่มเขต พร้อมประเมินผลการจัดงานทุกครั้ง