กทม.รุกมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง

08 Feb 2023

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อรองรับสถานการณ์ ตามที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ประเมินฝุ่นละออง PM2.5 อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องถึงต้นเดือน มี.ค.66 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง"

กทม.รุกมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง

เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น เข้มงวดตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ทุกประเภท ขอความร่วมมือผู้ประกอบการก่อสร้างทุกประเภทงดกิจกรรมการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่น ประสานสถานีตำรวจท้องที่กวดขันวินัยจราจร อำนวยการจราจรให้คล่องตัว เข้มงวดตรวจตรา ในพื้นที่ป้องกันการเผาในที่โล่ง เผาหญ้า ขยะ เศษวัสดุเหลือใช้ เพิ่มความถี่การล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดพ่นน้ำล้างต้นไม้ ใบไม้ เพื่อดักจับฝุ่น ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนลดใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ขับช่วยดับเครื่อง ขอความร่วมมือผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่พิจารณาวางแผนให้พนักงานทำงานระยะไกล และประชาชนทำงานที่บ้าน (Work form Home) หรือเดินทางด้วยรถสาธารณะ ส่วนในโรงเรียนสังกัด กทม.ได้ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากพบนักเรียนมีอาการ เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้รีบปรึกษาแพทย์

ขณะเดียวกันได้แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com www.pr-bangkok.com และเพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการวางแผนการทำงาน การเดินทาง และการทำกิจกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และวางแผนก่อนออกจากบ้าน นอกจากนี้ กทม.ยังได้ร่วมมือกับ LINE ประเทศไทย เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนประชาชน เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีค่าเกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จำนวน 10 เขต หรือค่าฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม. จำนวน 1 เขต บน LINE ALERT โดยสามารถเพิ่มเพื่อน LINE ALERT ด้วยการค้นหาไอดี @linealert ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง หรือรถยนต์ปล่อยควันดำสามารถแจ้งเบาะแสผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อไป

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ.มีแนวทางจัดเตรียมบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม.เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 โดยร่วมกับสำนักงานเขตตรวจสอบ กำชับ และเพิ่มความเข้มงวดสถานประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น เช่น แพลนท์ปูน กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ ประดิษฐ์หินของใช้ ผลิต สะสมธูป และกิจการที่มีหม้อไอน้ำ เป็นต้น เพื่อควบคุมไม่ให้สถานประกอบกิจการปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบมลพิษทางอากาศจากเตาเผาศพ เพื่อควบคุมและกำกับให้เผาศพอย่างถูกวิธี รวมทั้งรณรงค์การจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมบริเวณศาลเจ้าและลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้น ยังได้จัดหาหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือน ม.ค. - ก.พ.66 ได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 1,200,000 ชิ้น โดยกระจายผ่านสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยภูมิแพ้ต่อฝุ่น และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสฝุ่น PM2.5 เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน คนงานกวาดถนน เป็นต้น รวมทั้งได้สั่งการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 ศูนย์ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อแจกหน้ากากอนามัย พร้อมให้คำแนะนำประชาชนและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องสัมผัสฝุ่น PM2.5 ให้ดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพ รวมถึงแนะนำแนวทางและวิธีป้องกันตนเอง เพื่อป้องกันโรค หรืออาการที่เกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาลและโรงเรียน เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีมาตรการ ดังนี้ (1) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 มคก./ลบ.ม. (2) โรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.06 3324 1126 และ 09 9170 5879 และ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.0 2429 3576 ต่อ 8522

กทม.รุกมาตรการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit