สภาวิศวกรแนะระบบเซฟตี้พื้นฐานที่ต้องมีในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ(Solar rooftop)

20 Feb 2023

สภาวิศวกรแนะระบบเซฟตี้พื้นฐานที่ต้องมีในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ(Solar rooftop) พร้อมออกโรงเตือนติดตั้งไม่ได้มาตรฐานอาจเสี่ยง "ไฟไหม้วอด

สภาวิศวกรแนะระบบเซฟตี้พื้นฐานที่ต้องมีในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ(Solar rooftop)
  • ติดโซลาร์รูฟให้ปลอดภัยต้องใช้ "วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ" พร้อมแนะติดป้ายกำกับ "บ้านหลังนี้ติดโซลาร์รูฟ" และระบบหยุดทำงานฉุกเฉิน - อุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก ประหยัดได้ แบบหายห่วง

สภาวิศวกร สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟสำหรับใช้งานภายในครัวเรือน โดยเน้นย้ำความปลอดภัย ออกโรงเตือน ควรติดตั้งโดยวิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงใช้อุปกรณ์ประกอบให้ได้ตามมาตรฐาน และเพิ่มอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่หยุดทำงานฉุกเฉิน หรือ Rapid Shutdown และอุปกรณ์ป้องกันไฟกระชาก หรือ Surge Arrester เพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ และสร้างความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและผู้ติดอยู่ในอาคารขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ พร้อมโชว์ต้นแบบอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของสภาวิศวกร ที่เป็นอาคารเขียว ระดับแพลตตินัม ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟ ช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า 200 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน หวังเป็นส่วนหนึ่งช่วยลดภาวะโลกร้อน

นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า สภาวิศวกร กล่าวว่า การประชุม COP 26 หรือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ได้เกิดข้อตกลงด้านภูมิอากาศฉบับล่าสุด "Glasgow Climate Pact" เป็นข้อตกลงนานาชาติที่จะสนับสนุนการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงในการลดการใช้ถ่านหิน และยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศให้ได้มากที่สุด โดยประเทศไทยได้ขานรับนโยบายจากการประชุม COP 26 ด้วยการสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟสำหรับใช้งานเองภายในครัวเรือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย : ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ. 2565 (มาตรฐาน วสท. 022013-22) โดยคณะกรรมการมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย : ระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ในคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นมาตรฐานการในติดตั้งที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและได้คุณภาพระดับสากล

นายกิตติพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกระแสดังกล่าวทำให้ปัจจุบันภาคประชาชนได้เริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในบ้านเรือน หรือขายคืนไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าหรือภาครัฐที่รับซื้อไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้เสริมกันมากขึ้น แต่สภาวิศวกรยังมีข้อกังวลบางประการถึงกิจกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบได้อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน การเกิดอุบัติภัยต่างๆ เช่น การรับน้ำหนักของหลังคา รวมถึงการเกิดเพลิงไหม้ เนื่องจากถึงแม้จะมีการตัดไฟจากแผงสวิตช์หลักภายในบ้านแล้ว แต่ยังมีกระแสไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไหลอยู่ในวงจรตลอดเวลา จึงต้องมีระบบที่ทำหน้าที่หยุดทำงานฉุกเฉิน หรือ Rapid Shutdown เพื่อลดแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้มีแรงดันไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และในเวลาที่รวดเร็ว สำหรับความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน และเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เกี่ยวข้อง หากมีเหตุเพลิงไหม้ การฉีดน้ำดับเพลิงในบ้านที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ จึงอาจเกิดไฟช็อตเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และผู้ที่ติดอยู่ในบ้านได้ ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย จึงควรมีการติดป้ายแจ้งเตือนให้ทราบว่า "บ้านหลังนี้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟ" เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิง และควรมีระบบหยุดทำงานฉุกเฉิน หรือ Rapid Shutdown เพื่อหยุดกระแสไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้จากการติดตั้งโซลาร์รูฟคือการเกิดฟ้าผ่า ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟกระชาก สร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน และอาจนำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ได้ ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟ จึงควรติดตั้ง อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าและระบบการต่อลงดินที่ถูกต้อง พร้อมอุปกรณ์ป้องกันแรงดันไฟกระชาก (Surge Arrester) เพื่อป้องกันแรงดันไฟฟ้าเกินด้วย และเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่นการเกิดเหตุเพลิงไหม้ การติดตั้งโซลาร์รูฟควรดำเนินการออกแบบและติดตั้งโดยวิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการอบรมด้านการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ควรใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา อีกทั้งยังต้องมีการตรวจบำรุงรักษาประจำปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ยังสามารถใช้งานผลิตไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย และไม่มีความเสียหายระหว่างการใช้งาน รวมถึงตรวจสอบระบบป้องกันต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย และสามารถป้องกันหากเกิดเหตุฉุกเฉินได้ นายกิตติพงษ์ กล่าวเสริม

รศ. ดร. ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร สมัยที่ 7 ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกร เล็งเห็นถึงความสำคัญของการติดตั้งโซลาร์รูฟเพื่อใช้ในอาคารบ้านเรือนอย่างปลอดภัย ได้มีการจัดอบรม ให้ความรู้มาตรฐานการติดตั้งโซลาร์รูฟแก่สมาชิก เพื่อสร้างมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรให้เป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ สภาวิศวกร ยังใช้วิชาชีพวิศวกรรม ออกแบบติดตั้งโซลาร์รูฟที่อาคารสภาวิศวกรแห่งใหม่ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองภายในตัวอาคาร ได้มากกว่า 200 กิโลวัตต์/วัน ซึ่งการติดตั้งโซลาร์รูฟ เป็นหนึ่งในแผนการออกแบบ "อาคารสำนักงานสีเขียว" ในระดับสูงสุด ระดับแพลตตินัม และถือเป็นต้นแบบอาคารสีเขียวแห่งหนึ่งในประเทศไทย

สภาวิศวกรแนะระบบเซฟตี้พื้นฐานที่ต้องมีในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ(Solar rooftop)