กทม.แนะประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยง 6 โรค ช่วงหน้าร้อน

09 Mar 2023

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ปี 2566 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.มีความห่วงใยสุขภาพและอนามัยของประชาชนด้วยอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ประชาชนจึงควรระมัดระวังดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำอุปโภคบริโภค โดยรับประทานอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูร้อน

กทม.แนะประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยง 6 โรค ช่วงหน้าร้อน

โดย กทม.ได้จัดทำชุดความรู้การส่งเสริมและให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ปี 2566 เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอาการสำคัญของโรคที่เกิดในฤดูร้อน ดังนี้

(1) โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด ผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง อาจมีไข้ หรืออาเจียนร่วมด้วย

(2) โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป อาการที่สำคัญของโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย และอาจมีถ่ายเหลวร่วมด้วย

(3) โรคบิด เกิดจากการรับประทานอาหาร ผักดิบ หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อบิดปนเปื้อน อาการสำคัญคือ มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูก หรือมูกปนเลือด

(4) โรคอหิวาตกโรค เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปนเปื้อน อาการที่สำคัญคือ ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำซาวข้าวคราวละมาก ๆ ผู้ป่วยจะอาเจียน กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ตาลึกโหล ปัสสาวะน้อย หากเสียน้ำมากผู้ป่วยอาจหมดสติ และเสียชีวิตได้

(5) โรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อน หรือผู้ที่เป็นพาหะโรคไทฟอยด์ อาการที่สำคัญคือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องอืด หรือท้องเสียได้ ผู้ป่วยและผู้ที่เป็นพาหะนำโรคไข้ไทฟอยด์ ควรหลีกเลี่ยงการประกอบอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์ได้

(6) โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่ สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต เป็นต้น เมื่อคนได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการปรากฏภายใน 15 - 60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยเมื่อถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

และ (7) โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่สำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน

กทม.แนะประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยง 6 โรค ช่วงหน้าร้อน
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit