วช. มอบ นวัตกรรมทวารเทียมจากยางพารา สำหรับผู้ป่วยขับถ่ายทางหน้าท้องให้ รพ.ยะลา 1,000 ชุด

22 Mar 2023

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งมอบ "ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพารา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก" ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. ให้แก่ โรงพยาบาลยะลา 1,000 ชุด เพื่อรับมือผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ประสบอุบัติเหตุทางช่องท้องที่ต้องขับถ่ายอุจจาระทางรูเปิดของลำไส้ที่ผนังหน้าท้อง ซึ่งไม่มีหูรูด การมอบให้ครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 โดยมี แพทย์หญิงนิตยา ภูวนานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะลา เป็นผู้รับมอบฯ และ ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวต้อนรับ ณ โรงพยาบาลยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยมี คณะ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลยะลา ให้เกียรติร่วมงาน

วช. มอบ นวัตกรรมทวารเทียมจากยางพารา สำหรับผู้ป่วยขับถ่ายทางหน้าท้องให้ รพ.ยะลา 1,000 ชุด

นายธีรวัฒน์ บุญสม กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ได้เล็งเห็นปัญหาและความจำเป็นที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย จึงได้ทำการสนับสนุนโครงการ "ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย จากทวารเทียมจากยางพารา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐาน ราก" ให้กับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถพัฒนาต่อยอด และแก้ปัญหาความขาดแคลน ทำให้ผู้ป่วยที่เดือดร้อนจากการเจ็บป่วย สามารถเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดช่องว่างทางสังคมและฐานะของผู้รับบริการ เนื่องจากปัจจุบันชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายทวารเทียมได้ มีการใช้วัสดุจากยางพาราภายในประเทศ จึงสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ และ สร้างความมั่นคงได้ในระยะยาว อีกทั้งยังได้มีการพัฒนา รูปแบบของชุดอุปกรณ์ให้เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้อง ของคนไทย จนสามารถจดสิทธิบัตรสูตรยางพาราดังกล่าว และอนุสิทธิบัตรการออกแบบอุปกรณ์ทวารเทียมได้ อีกด้วย

แพทย์หญิงนิตยา ภูวนานนท์ เปิดเผยว่า ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายทวารเทียมจากยางพารา ที่ได้รับมอบจาก วช. ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยติดอันดับหนึ่งในห้าของโรคมะเร็งที่พบมากในคนไทย และมีแนวโน้มว่าจะมี จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี ผู้ป่วยหลายรายมีความ พิการบางอย่างติดตามมา โดยเฉพาะการมีทวารเทียม ทำให้ผู้ป่วยจะต้องขับถ่ายอุจจาระทางรูเปิดของลำไส้ ที่ผนังหน้าท้องซึ่งไม่มีหูรูดเหมือนทวารหนัก ดังนั้นจะมี ของเสียไหลทั้งอุจจาระและผายลมออกมาได้ตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นต้องใช้ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจาก ทวารเทียมตลอดเวลา ซึ่งปัญหาสำคัญของการใช้ชุดอุปกรณ์ รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมนี้ คือ ความขาดแคลน ไม่สามารถเข้าถึงบริการของชุดอุปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัดและราคาสูง

ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ กล่าวถึงการคิดค้นชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีการตัดลำไส้ทิ้ง เนื่องจากภาวะการเป็นมะเร็งลำไส้ ทำให้ไม่สามารถขับถ่ายทางทวารหนักตามปกติได้ โดยนำเอาผลผลิตของยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้มาประยุกต์ใช้ จนเป็นผลสำเร็จ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการสั่งซื้อชุดทวารเทียมจากต่างประเทศ และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา แต่ยังคงคุณภาพและประสิทธิภาพที่ได้มาตรฐานและเทียบเท่าชุดอุปกรณ์ทวารเทียมจากต่างประเทศจุดเด่นของชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม ที่ผลิตโดยยางพาราไทย คือไม่ระคายเคืองผิวหนัง แป้นติดผิวหนังและถุงรองรับสิ่งขับถ่ายที่มีน้ำหนักเบา ยึดติดผิวหนังได้ดี สามารถปรับรูปร่างตามหน้าท้องได้ อีกทั้งยังสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 0.5 กิโลกรัม เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษและผลิตด้วยกระบวนการเป่าฟิล์มแบบหลายชั้น ไม่เกิดการรั่วซึม ทำให้ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เล็ดลอดออกมาได้ ลดปัญหาความขาดแคลนและการนำเข้าจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน อย. เครื่องหมายฮาลาล และเครื่องหมายมาตรฐานตาลีบัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากการมอบชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพาราแลัว ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีการบรรยายความรู้ เรื่อง "ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพาราเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก" โดย นางสาวจันทร์ฉาย แซ่ตั้ง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา และ การบรรยายองค์ความรู้ "การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยนวัตกรรมไทย" จาก ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ส่วนช่วงบ่าย ได้มีการเสวนา เรื่อง "พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยนวัตกรรมไทย ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพารา" ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงการเข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย และการนำไปใช้ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีกด้วย

วช. มอบ นวัตกรรมทวารเทียมจากยางพารา สำหรับผู้ป่วยขับถ่ายทางหน้าท้องให้ รพ.ยะลา 1,000 ชุด