กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วย นายประยุทธ์ ไกรปราบ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำ 1 นางสาวบุญธิดา เปล่งแสง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ละแผนงาน นายนิทัศน์ สุดดีพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 นายสัณห์ เข็มประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูแหล่งน้ำ นายสรศักดิ์ ใจประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระบบการอนุรักษ์แหล่งน้ำ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 3 - 4 เมษายน 2568
นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าและช่วยเร่งรัดให้การดำเนินงานโครงการฯ เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยจุดเริ่มต้นของโครงการฯ มีมาตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย พร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งลักษณะของโครงการจะเป็นอ่างเก็บน้ำแบบเขื่อนดินชนิด Zone Embankment ขนาดยาว 275 เมตร สูง 32 เมตร มีความจุกักเก็บน้ำได้ 1,020,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำ ชนิด HDPE ความยาวรวม 8,433 เมตร ดำเนินงานภายใต้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 232,188,000 บาท โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 ถือเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมทรัพยากรน้ำได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรมทรัพยากรน้ำยังได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ และงบผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งได้กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินงาน ดังนี้ งานก่อสร้างร่องแกนอ่างเก็บน้ำ งานดินถมแกนอ่างเก็บน้ำ สูง 32 เมตร สันเขื่อนกว้าง 9 เมตร ยาว 275 เมตร งานก่อสร้างท่อลอดพร้อมอาคารบังคับน้ำ 1 แห่ง งานก่อสร้างอาคารระบบระบายน้ำล้น (Chute Spillway) ความสูง 3 เมตร ความกว้าง 6 เมตร ความยาว 250 เมตร จำนวน 1 แห่ง งานก่อสร้างระบบส่งน้ำไปยังผู้รับประโยชน์ โดยรวมปัจจุบันมีการดำเนินงานไปแล้วร้อยละ 26
"โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย พร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ จะช่วยสร้างประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนและส่งน้ำให้แก่ โครงการสวนสัตว์กลางคืน โครงการพืชสวนโลกอุทยานหลวงราชพฤกษ์ โครงการพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมถึงเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ จำนวน 60 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จำนวน 450 ไร่ อีกทั้งเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับดับไฟป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีความจุเก็บกักน้ำ 1,020,000 ลบ.ม. และส่งน้ำได้สูงสุด 11,990 ลบ.ม. ต่อวัน" นายเวสารัช กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit