'ภัยแล้ง' ทีม SEhRT กรมอนามัย-สสจ.-ท้องถิ่น เตรียมพร้อมรับมือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

02 Apr 2025

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบทีม SEhRT ประสานภารกิจร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่นในระดับพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

'ภัยแล้ง' ทีม SEhRT กรมอนามัย-สสจ.-ท้องถิ่น เตรียมพร้อมรับมือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์อุณหภูมิความร้อนที่สูงขึ้นในหลายจังหวัด ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่ ภัยแล้งลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเกิดภาวะโรคจากความร้อน จากข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในปี 2567 ที่ผ่านมาได้ประกาศเขตประสบสาธารณภัย กรณีภัยแล้ง ทั้งหมด 21 จังหวัด 78 อำเภอ 299 ตำบล 2,504 หมู่บ้าน ส่งผลกระทบให้ประชาชนในหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ไม่มีน้ำใช้ เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในแหล่งน้ำและอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชนจากภัยสุขภาพดังกล่าว กรมอนามัย จึงกำหนดมาตรการเชิงรุก และมีการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบต่อไป

"ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้มอบหมายทีมปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัย ประสานภารกิจร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นในระดับพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง และมีมาตรการในการป้องกันลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ดังนี้ 1) สำรวจ ติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อเตรียมมาตรการและความพร้อมสนับสนุนการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และมีการรายงานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ปี 2567 2) ดำเนินการสำรวจ และประเมินคุณภาพน้ำใช้ของประชาชนในพื้นที่ ตรวจวัดคุณภาพน้ำจากประปาชุมชน ประปาหมู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรกในน้ำ รวมทั้งตรวจสอบ ควบคุม ตรวจตราระบบประปาดังกล่าว ให้อยู่ในสภาพดี ทั้งอุปกรณ์ ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยต้องไม่มีการชำรุด แตกร้าว หรือมีความผิดปกติในการผลิตน้ำสะอาด เป็นการลดความเสี่ยงประชาชนที่ใช้น้ำ และ 3) ตรวจประเมินด้านการสุขาภิบาลอาหารในสถานประกอบการ เช่น ร้านอาหาร ตลาดและแผงลอยในพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อในช่วงประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำสะอาด" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้าน นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยเสี่ยงภัยแล้ง ดำเนินการดังนี้ 1) เตรียมความพร้อมของทีมปฏิบัติการรวมทั้งเครื่องมือตรวจวัด วัสดุ อุปกรณ์ ชุดทดสอบภาคสนามสำหรับทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำและอาหาร สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในกรณีภาวะฉุกเฉินภัยแล้งร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ2) ลงพื้นที่สาธิตให้ความรู้ เรื่องการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้กับแกนนำชุมชน อสม. และประชาชนในพื้นที่ ด้วยการใช้ชุดเราสะอาด (V-Clean) เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้ง 3) สื่อสาร เสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมกรณีภัยแล้ง (DOH Emergency Flowchart) ให้แก่เจ้าหน้าที่ทีม SEhRT ทุกระดับ เพื่อสามารถนำแนวทางไปใช้กรณีเกิดสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินจากภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"นอกจากนี้ ให้ทีม SEhRT สื่อสารสร้างการรับรู้ความเสี่ยง แจ้งเตือนสถานการณ์ และให้คำแนะนำในการดูแลปฏิบัติตน กรณีภัยแล้ง โดยให้ประชาชนมีความรู้ ดังนี้ 1) การดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคล และพฤติกรรมอนามัยในช่วงเกิดภัยแล้ง โดยเน้นการล้างมือด้วยน้ำสะอาดหรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกครั้ง ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการใช้ส้วม 2) ส่งเสริมให้ประชาชนสำรองน้ำสะอาดไว้ใช้ก่อนเกิดภาวะภัยแล้ง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้สะอาด ปลอดภัยจากการขาดแคลนน้ำ และลดการปนเปื้อนเชื้อโรค 3) เสริมความรู้เรื่องการปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้นในครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดไว้ใช้ประกอบปรุงอาหารในช่วงภัยแล้ง และ 4) เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำสะอาด หมั่นสังเกตความผิดปกติทั้งอาหารและน้ำ หากพบอาหารมีกลิ่นบูด สีผิดปกติ รสชาติเปลี่ยนไป รวมทั้งน้ำสกปรกมีตะกอน มีลักษณะขุ่น ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานทันที" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

'ภัยแล้ง' ทีม SEhRT กรมอนามัย-สสจ.-ท้องถิ่น เตรียมพร้อมรับมือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ