นิทรรศการ "รัตนแห่งจุฬาฯ" เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา เปิดโลกการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ผ่านพรรณไม้ไทยหายากและทรงคุณค่า

11 Apr 2025

สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานกันทั่วหน้า สำหรับนิทรรศการ "รัตนแห่งจุฬาฯ" จากพรรณไม้ สู่นวัตกรรม เพื่อความยั่งยืน ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ บริเวณลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2568 เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์พืชพรรณไทยและการพัฒนาพันธุ์ไม้, ด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ ภายในงานอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยได้เนรมิตพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ใจกลางเมือง

นิทรรศการ "รัตนแห่งจุฬาฯ" เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา เปิดโลกการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ผ่านพรรณไม้ไทยหายากและทรงคุณค่า

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงทุ่มเทให้แก่การอนุรักษ์พืชพรรณไทย ทรงเป็นผู้นำในการส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่หายากและมีคุณค่าทางการแพทย์ รวมถึงการใช้พรรณไม้ในโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ รวมถึงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้และนำไปต่อยอดสร้างสรรค์ โดยได้รับการเอื้อเฟื้อข้อมูลจากคณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญภาพถ่ายดอกไม้ฝีพระหัตถ์เกี่ยวกับดอกไม้ จำนวน 38 ภาพ ซึ่งทรงฉายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2567 มาจัดแสดงในงาน โดยผลงานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้คัดเลือกมาจากนิทรรศการที่เคยจัดขึ้นในหัวข้อต่างๆ อาทิ ภาพฤาษีผสม วังสระปทุม ประเทศไทย ซึ่งถ่าย ณ วันที่ 4 กันยายน 2566 และจัดแสดงในนิทรรศการ "บ้านเขา เมืองเรา" ในปี พ.ศ. 2565 - 2566 ฯลฯ ภาพแต่ละภาพที่นำมาจัดแสดง ล้วนเป็นภาพที่ทรงคุณค่าทางศิลปะการถ่ายภาพ สะท้อนถึงมุมมองจากสายพระเนตรที่ลึกซึ้งเฉียบคม

นอกจากนี้ภายในงาน "รัตนแห่งจุฬา" ยังมีการจำหน่ายหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ปี พ.ศ. 2549 - 2567) เพื่อนำรายได้สมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ให้นำมาจัดแสดงนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นความรู้แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชน เริ่มตั้งแต่นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "แสงคือสี สีคือแสง" ในปี 2550 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "ทัศนียมรรคา" ในปี 2559 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "ชีวิตยามอยู่บ้าน" ในปี 2563 นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "ธรรมดาแบบใหม่ : New Normal" ในปี 2565 รวมถึงนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "ได้ออกนอกบ้าน" ในปี 2567 เป็นต้น

ในงานนิทรรศการยังมีพื้นที่จัดแสดงพรรณไม้หลากหลายชนิด แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ ได้แก่ โซนต้นไม้ประจำพระองค์ อาทิ "จำปีสิรินธร" ซึ่งเป็นพันธุ์จำปีที่มีอยู่แห่งเดียวในโลก รวมทั้งพรรณไม้พระราชทาน, โซนพรรณไม้เทิดพระเกียรติ จัดแสดงพืชชนิดใหม่ของโลกซึ่งได้รับพระราชทานชื่อตามพระนาม เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงสนพระทัยและสนับสนุนงานทางพฤกษศาสตร์ตลอดมา อาทิ สิรินธรวัลลี หรือสามสิบสองประดง, เทียนสิรินธร หรือ ชมพูสิริน และ รักตสิริน, โซนต้นไม้ทรงปลูก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น ต้นรวงผึ้ง ทรงปลูกในปี 2517 โดยนำพันธุ์มาจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ต้นมหาพรหม และ ต้นสรัสวดี เป็นชื่อพระราชทานพ้องกับสรัสวตีเทวี ซึ่งเป็นเทพผู้เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมี ต้นจำปีสิรินธร ต้นยางนา ต้นตะเคียนทอง ต้นตะเคียนหิน ต้นยางแดง เป็นต้น และโซนพรรณไม้สู่นวัตกรรม จัดแสดงโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อีกหนึ่งกิจกรรม คือ การเสวนาวิชาการที่น่าสนใจจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะอักษรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ พืชพรรณไม้ในพระราชดำริ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นวัตกรรมจากพรรณไม้ท้องถิ่นต่อยอดพระราชดำริยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่ออนาคต โดย ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มองธรรมะผ่านต้นไม้ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พรรณไม้ไทยในภูมิสถาปัตยกรรม โดย รศ.ปารณ ชาตกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พรรณไม้และนวัตกรรมในโลกแห่งกลิ่น ร่วมเสวนาโดย คุณสายใจ สายสล้าง แบรนด์ SAISALANG และ รศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตลอดระยะเวลาจัดงาน ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เม.ย. 2568 ยังมีบูธจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากโครงการในพระราชดำริ ซึ่งต่างนำผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมาจัดแสดง อาทิ พืชผักผลไม้ปลอดสารพิษของโครงการหลวง สินค้าที่ระลึกของมูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ฯ เครื่องจักสานและผ้าทอมือของภัทรพัฒน์ ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูปของดอยคำ รวมถึงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากพรรณไม้และดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวิร์กชอปฮีลใจที่ เกี่ยวเนื่องกับดอกไม้และพืชพรรณต่างๆ เช่น การทำดอกไม้ทับแห้งและกิจกรรมการวาดภาพพรรณไม้ เป็นต้น

เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ภายหลังการจัดงานนิทรรศการ "รัตนแห่งจุฬาฯ" บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้มอบภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่นำมาจัดแสดงให้แก่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เป็นความรู้แก่นิสิตและนักศึกษาและผู้ที่สนใจต่อไป เช่นเดียวกับพรรณไม้นานาชนิดที่นำมาจัดแสดง ได้มีการส่งต่อให้แก่ผู้เข้าร่วมงานที่สนใจ รวมทั้งศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00 น. ถึง 22.00 น. และสำหรับโซน 24 ชม. เปิดให้บริการตามปกติ ติดตามกิจกรรมและเรื่องราวดี ๆ จากสามย่านมิตรทาวน์ ได้ทาง Facebook SAMYANMITRTOWN

นิทรรศการ "รัตนแห่งจุฬาฯ" เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา เปิดโลกการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ผ่านพรรณไม้ไทยหายากและทรงคุณค่า