สสส. ภาคีเครือข่าย และ กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมดำเนินกิจกรรม เพื่อส่งเสริมนิเวศสื่อสุขภาพให้กับเด็ก ครอบครัว และชุมชน ผ่านแนวคิด "สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี"
ชุมชนทากาศ ในเทศบาลตำบลทากาศ อำเภอทากาศ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนตลาดที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยและครอบครัว บ้านเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนนี้เป็นร้านค้าที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ ความหลากหลายของสินค้าและความคึกคักของชุมชนตลาด ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยในมิติที่หลากหลายด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ชุมชนทากาศ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมความฉลาดรู้ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย โดยการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบการร้านค้า และบุคคลที่เกี่ยวข้องในชุมชนให้เข้าใจถึงบทบาทของตนในการเป็นต้นแบบและผู้นำด้านสุขภาวะ การสร้างความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงช่วยให้เด็กปฐมวัยสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ได้เท่านั้น แต่ยังสร้าง "ภูมิที่ดี" ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็กในระยะยาว
แนวคิด "นิเวศสื่อสุขภาวะ" ถูกนำมาใช้ในชุมชนทากาศเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ด้วยเด็กเรียนรู้จากปฎิสัมพันธ์แวดล้อมรอบตัว ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาสื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้านร่วมกัน
นางสาวนันท์นภัส เนตรสุวรรณ หัวหน้า หัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษา กองการศึกษา เทศบาลตำบลทากาศ กล่าวถึงการดำเนินงาน ว่า "โครงการได้รับสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่มwearehappy.องค์กรสาธารณประโยชน์ ทางเทศบาลได้ดำเนินงานร่วมกับคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย ครูปฐมวัย ผู้ปกครองเด็ก ปราชญ์ชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนากระบวนการกิจกรรม สื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมให้เด็กเกิดความฉลาดรู้ทางสุขภาพ โดยมีองค์ประกอบการทำงานเพื่อการพัฒนา ดังนี้
1. คณะทำงานที่ชัดเจน การสร้างทีมงานจากทุกภาคส่วนในชุมชน เช่น ผู้นำชุมชน ครู นักโภชนาการ ผู้ประกอบการ และตัวแทนหน่วยงานรัฐ ช่วยสร้างโครงสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
2. ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง การอบรมแก่ผู้ปกครองและชุมชนอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านโภชนาการ เช่น วิธีการเลือกอาหารที่ดีสำหรับเด็ก
3. กิจกรรมรณรงค์ในชุมชน เช่น จัดนิทรรศการให้ความรู้ ประกวดเมนูสุขภาพใช้สื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชน เพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิดกับสมาชิกชุมชน
4. ติดตามพฤติกรรมการบริโภค การเยี่ยมบ้านโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ เช่น อสม. และนักโภชนาการ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะครอบครัว พร้อมแนะนำการเตรียมอาหารที่เหมาะสม
5. ร้านค้าต้นแบบ การยกย่องร้านค้าที่ร่วมส่งเสริมโภชนาการ เช่น การมอบโล่รางวัลและป้ายรับรองร้านค้าสุขภาพ
6. การปฏิบัติในครอบครัว ส่งเสริมให้ครอบครัวเลือกอาหารและขนมที่มีประโยชน์ พร้อมสนับสนุนการแบ่งปันประสบการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ และการจัดทำปฏิทินเมนูสุขภาพเพื่อเผยแพร่ในชุมชน
7. การควบคุมพฤติกรรมการบริโภค ร่วมกันกำหนดกติกา เช่น งดจำหน่ายอาหารที่มีน้ำตาลสูง พร้อมจัดโซนขายอาหารเพื่อสุขภาพในตลาดร่วมกันกำหนดกติกาการจำหน่ายและบริโภคอาหารที่เหมาะสม ทำข้อตกลงร่วมกันในการงดจำหน่ายขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ขนมหวานที่มีน้ำตาลสูง
บทบาทของครอบครัวและครูปฐมวัย
ดร.สรวงธร นาวาผล ผู้อำนวยการกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโชน์ กล่าวว่า "การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเด็กให้เกิดสุขภาวะ โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ครอบครัว และชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างสมบูรณ์ของเด็ก ภายใต้การเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น การนำภูมิความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี ที่เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาอย่างมีความสุข การรู้เท่าทันในการดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ยังช่วยให้เด็กเกิดภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเอง โดยแต่ละฝ่ายการมีบทบาทร่วมกัน เช่น ครอบครัว: ผู้ปกครองควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการเลือกและบริโภคอาหารที่เหมาะสม การส่งเสริมพฤติกรรมการกินของเด็กเริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดี ครูปฐมวัย: ครูสามารถสอดแทรกความรู้เรื่องโภชนาการผ่านการสอนในห้องเรียน เช่น การเล่านิทาน การทำกิจกรรมเกี่ยวกับอาหาร และการสนับสนุนเด็กในการเลือกอาหารที่มีประโยชน์
การสอนผ่านกิจกรรมประจำวันในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย
ครูสามารถบูรณาการความรู้เรื่องอาหารที่มีประโยชน์และโทษของขนมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น
:1.เล่านิทาน นิทานเกี่ยวกับผลไม้ ผัก และโทษของอาหารที่ไม่ดี สอดแทรกบทเรียนเกี่ยวกับสารอาหารที่จำเป็นให้กับเด็กๆ
2.การเล่นบทบาทสมมติ เช่นจัด "ร้านขายของชำเพื่อสุขภาพ" ให้เด็กสวมบทบาทผู้ขายและผู้ซื้อ เรียนรู้การเลือกอาหารที่ดี
3.กิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น วาดภาพอาหารจานโปรดพร้อมคำอธิบายว่าทำไมอาหารเหล่านั้นถึงมีประโยชน์
4.การทำอาหารง่าย ๆ ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารว่าง เช่น การทำสลัดผลไม้
การส่งต่อความรู้จากเด็กสู่ครอบครัว
ครูสามารถมอบหมายให้เด็กปฐมวัยถ่ายทอดความรู้ที่เรียนมาให้ผู้ปกครอง โดย
- ให้เด็กบอกเล่าเรื่องราวอาหารที่มีประโยชน์
- สอบถามพฤติกรรมการซื้อขนมจากผู้ปกครอง เช่น เด็กชอบขอขนมอะไร
- ครูประเมินพฤติกรรมผ่านการสังเกต เช่น เด็กไม่พกขนมกรุบกรอบหรือน้ำหวานมาโรงเรียน
รูปแบบการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านอาหารและโภชนาการผ่านกติกาชุมชน 3 ดีในชุมชนทากาศ จังหวัดลำพูน เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือในชุมชนที่มุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความฉลาดรู้ด้านอาหาร และเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ การเรียนรู้เรื่องอาหารและโภชนาการในเด็กปฐมวัยเป็นมากกว่าแค่ความรู้ แต่คือการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่ดีตั้งแต่เล็ก แนวทางนิเวศสื่อสุขภาวะช่วยบูรณาการบทบาทของครู ครอบครัว และชุมชนเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีสุขภาพดีในระยะยาว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit