ถอดสมการ "Tech For Good" สร้างสรรค์นวัตกรรมแก้โจทย์ปัญหา…ทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าปั้น นวัตกรทรู 50% พร้อมจดสิทธิบัตรอินโนเวชั่น 200 ผลงาน ภายในปี 2030

28 Nov 2024

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรากำลังเผชิญกับความท้าทายภายใต้ปัจจัยที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งปัญหาสังคม เช่น ผู้สูญหายที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จากสถิติพบว่า ในปี 2565 ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมมีมากถึง 770,000 คน กลุ่มเปราะบางที่เป็นบุคคลออทิสติก ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ หรือแม้กระทั่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่สร้างความเสียหายในพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัยมากกว่า 156,066 ครัวเรือน ส่งผลให้มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในทุกปี

ถอดสมการ "Tech For Good" สร้างสรรค์นวัตกรรมแก้โจทย์ปัญหา…ทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าปั้น นวัตกรทรู 50% พร้อมจดสิทธิบัตรอินโนเวชั่น 200 ผลงาน ภายในปี 2030

ไขสมการ "Tech For Good" ส่วนผสมของเทคโนโลยีที่เข้าถึงอินไซด์ และเข้าใจโจทย์อย่างลึกซึ้ง

หนึ่งในกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ก็คือ "นวัตกรรม" จึงเป็นเหตุผลที่ผู้นำเทค คอมปานีไทย อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น เดินหน้าทุ่มเทสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรม พร้อมพัฒนาผลงานเพื่อส่งมอบคุณประโยชน์แก่สังคม ด้วยวิธีคิดแบบ "Tech For Good"

นายวีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย หัวหน้าศูนย์นวัตกรรม บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "ภารกิจสำคัญของ True Innovation คือการสร้างคนให้มีหัวใจนวัตกร สร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่สังคมและผู้บริโภคชาวไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์ที่จะทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นจริง คือ สมการ "Tech For Good" ที่มีส่วนผสมของ 3 ตัวขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ 1. Empathy เข้าใจชีวิต ใส่ใจทุกมิติ - พัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานความเข้าใจความต้องการของทุกชีวิต ทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ผ่านมุมมองที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และการรับฟังความต้องการจากทุกชุมชน 2. Insights พลังข้อมูล นำสู่การเปลี่ยนแปลง - ตัดสินใจบนพื้นฐานการวิเคราะห์ข้อมูลแบบองค์รวม โดยบูรณาการข้อมูลจากเครือข่ายพันธมิตรและชุมชน เพื่อพัฒนาโซลูชันที่ตรงจุด และ 3.Technology นวัตกรรมเพื่อทุกชีวิต - นำความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ผสาน AI และ Big Data พัฒนาเป็นโซลูชันที่เข้าถึงได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน"

มัดรวมไฮไลท์อินโนเวชั่นทรู สะท้อนคุณค่าใน 3 มิติ

จากสถิติของ BBC Science Focus Magazine พบว่า ช้างป่าเป็นสัตว์ที่อันตรายที่สุดต่อชีวิต ติดอันดับ 8 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยมีช้างป่ามากกว่า 4,000 ตัว และมีจำนวนเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2567 สถิติที่น่าวิตกคือในช่วง 12 ปี (2555 - 2567) ที่ผ่านมา ช้างป่ามีการบุกรุกพื้นที่เพาะปลูกและที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 198 ราย มีผู้เสียชีวิตถึง 227 ราย เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ทรู ได้นำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G, 4G และ AI ร่วมกับกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ภาพช้างป่า หรือผู้พบเห็นแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Smart Adventure แจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ผ่านโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (True Smart Early Warning System) โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย ดำเนินการนำร่องในพื้นที่รอบเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

"ทีมนวัตกรทรู ต้องเรียนรู้กับความท้าทายต่างๆ ทั้งจำนวนช้างป่าที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 400 ตัว อีกทั้งจำนวนด่านที่เพิ่มขึ้นจาก 25 ด่าน ในปี 2560 เป็น 40 ด่าน ในปัจจุบัน ขณะที่พื้นที่เป้าหมายที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีมีพื้นที่กว้างถึง 969 ตร.กม. เทียบเท่าพื้นที่เกาะภูเก็ต 2 เท่า รวมถึงระยะเวลาในการผลักดันช้างกลับเข้าป่า ที่ต้องรวดเร็วและทันท่วงที เทคโนโลยีการสื่อสารที่ระบุพิกัดและแจ้งเหตุแบบเรียลไทม์จึงมีความสำคัญมาก" นายศักดิ์ดา เหลืองสกุลทอง หัวหน้าทรู แล็บ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ตั้งแต่ติดตั้งระบบในปี 2562 มีการแจ้งเตือนภัยจากช้างป่าที่บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ไปแล้วกว่า 5,754 ครั้ง ลดความเสียหายและสร้างความปลอดภัยให้ชุมชนจาก 74% เหลือเพียง 0.36% เท่านั้น

นวัตกรรม Application Autistic และริสแบนด์ หาย (ไม่) ห่วง ขับเคลื่อนมิติด้านสังคม

ทรู ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการศึกษา Autistic Application ซึ่งประกอบด้วย Daily Tasks, Trace & Share และ Communication เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ทักษะการเรียนรู้ การลากเส้น ทักษะภาษาและการสื่อสาร รองรับ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน พร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 19 ล้านครั้งทั่วโลก ประเทศท็อปฮิต 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย สเปน และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2566 มีผู้ใช้งานแอปนี้กว่า 52,148 รายในไทย และจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานแอปพลิเคชันออทิสติกทั่วประเทศ พบว่า เด็กออทิสติกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้ง 3 ด้าน โดยเฉลี่ย 20 เท่าตัว

นอกจากการทำงานร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทยแล้ว ทรู ยังร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงา พัฒนาริสแบนด์พร้อมด้วยคิวอาร์โค้ด สวมใส่ข้อมือเพื่อผู้ป่วยหลงลืม ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงพลัดหลงและหายออกจากบ้าน โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 3,000 คน ใน 4 ปีที่ผ่านมา มีคนสูญหายได้กลับคืนสู่บ้านแล้วกว่า 40 คน

"ทีมนวัตกรทรู พยายามคิดค้นนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ติด GPS แบบชาร์จ นาฬิกาติดตามตัว รวมถึง Smart tag ห้อยคอ หรือติดตามเสื้อผ้า หรือแม้แต่ RFID แบบฝังผิวหนัง แต่ด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์แบบต่างๆ ทำให้เรากลับพบว่านวัตกรรมที่ไม่มีความซับซ้อน ใช้ต้นทุนไม่สูง กลับตอบโจทย์ได้ดีที่สุด" นายวีรศักดิ์ กล่าว

ยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วย นวัตกรรม "มะลิ"

ในมิติด้านเศรษฐกิจ ทรู ได้นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนานวัตกรรม "มะลิ" ที่ปฏิวัติการบริการลูกค้า โดยให้บริการสนทนาและแก้ไขปัญหาได้กว่า 2 ล้านครั้งต่อเดือน ด้วยอัตราความสำเร็จถึง 90% ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ มีเพียง 10% เท่านั้นที่ถูกส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเส้นทางการพัฒนา "มะลิ" เริ่มจาก Voice จนมาเป็น มะลิแบบครบวงจร ผ่านการออกแบบที่เหมาะสมกับแต่ละช่องทางที่แตกต่างกันทั้งในรูปแบบ Voice / Chat / App และ AI

สร้าง "นวัตกร" ในองค์กรแห่งนวัตกรรมแบบฉบับทรู

ทรู สร้างนวัตกรรมจาก 3 มิติ ได้แก่ 1.Closed Innovation เน้นสร้างวัฒนธรรมพนักงานทรู คิดสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม จนไปสู่สินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นได้ 2.Open Innovation เน้นสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา พันธมิตรธุรกิจเพื่อต่อยอดนวัตกรรม และ 3. สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สร้างเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพื่อเติบโตเป็น สตาร์ทอัพ พัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพ

"True Innovation เชื่อว่า "คน" คือกลไกสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในองค์กร ทีมเรา จึงทำหน้าที่ช่วยจุดประกาย เป็นที่ปรึกษา สร้างโอกาส ให้พนักงานทุกคนเป็นนวัตกรได้ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พนักงานทรู พัฒนานวัตกรรมไปแล้วกว่า 600 ผลงาน มีพนักงานที่เป็นนวัตกรกว่า 4,000 คน ยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาได้กว่า 100 ผลงาน ประเมินเป็นรายได้และลดต้นทุนได้กว่า 4,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรทรูให้ได้ 50% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด พร้อมจดสิทธิบัตรนวัตกรรมให้ได้ 200 ผลงาน ภายในปี 2030" นายวีรศักดิ์ กล่าวสรุป

ถอดสมการ "Tech For Good" สร้างสรรค์นวัตกรรมแก้โจทย์ปัญหา…ทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าปั้น นวัตกรทรู 50% พร้อมจดสิทธิบัตรอินโนเวชั่น 200 ผลงาน ภายในปี 2030