"ภาวะโลกร้อน...ถึงเวลาที่พลังงานฟอสซิลต้องเริ่มนับถอยหลังแล้วจริงหรือ ?
พลังงานทดแทนถือเป็นพลังงานสะอาดมีความเสถียรแค่ไหน ?
แล้วเราจะต้องใช้พลังงานอะไร ในยุคการเปลี่ยนผ่านเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างยั่งยืน"
คำถามเหล่านี้ ในอดีตอาจจะตอบยากหน่อย แต่ในวันนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะ จากปัญหา "โลกเดือด" ที่เริ่มจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกวินาที เราคงรอช้าไม่ได้อีกต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ตระหนัก ทั่วโลกก็ต่างให้ความสำคัญโดยดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเดินหน้าหามาตรการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น
"ภาวะโลกร้อน...ถึงเวลาที่พลังงานฟอสซิลต้องเริ่มนับถอยหลังแล้วจริงหรือ ?" คงต้องตอบว่ายัง เพราะว่า
ปัจจุบันมีการนำเชื้อเพลิงที่ได้มาจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ยังคงนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆอยู่ เพียงแต่จะมีการพัฒนานำเทคโนโลยีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หรือ CCS มาใช้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมากขึ้น
"พลังงานทดแทนถือเป็นพลังงานสะอาดมีความเสถียรแค่ไหน ?" การนำพลังงาน
ทดแทนมาใช้ โดยเฉพาะการนำพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่า พลังงานเหล่านี้ ถือเป็นพลังงานสะอาด แต่มี "ความไม่แน่นอน" ตรงที่ผลิตไฟฟ้าได้แค่เป็นช่วงเวลาเท่านั้น ไม่ได้ตลอดเวลา จึงต้องพึ่งพาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศ รอราคาเทคโนโลยีให้ถูกลงก่อนที่จะลงทุน
"แล้วเราจะต้องใช้พลังงานอะไร ในยุคการเปลี่ยนผ่านเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างยั่งยืน" เราคงต้องมี
การผสมผสานการนำพลังงานสะอาดเข้ามาในกระบวนการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และคำถามนี้เมื่อต้องตอบใน ค.ศ. 2024 ก็คงจะต้องหันมาปัดฝุ่นพลังงานเดิม แล้วนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วมาจับคู่กัน นั่นคือ การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor หรือ SMR เข้ามาพิจารณาเป็นพลังงานทางเลือก ซึ่งกำหนดไว้แล้วในร่างแผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 - 2580 หรือ ร่างแผน PDP 2024 ที่ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้า SMR เอาไว้ในช่วงปลายของแผน PDP 2024 มีกำลังการผลิต ไม่เกิน 300 เมกกะวัตต์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก
แต่จากเหตุการณ์ในอดีตของพลังงานนิวเคลียร์ที่ ผ่านมา 3 ยุค 3 เหตุการณ์ ได้แก่ ครั้งที่ 1
ที่ Three Mile Island สหรัฐอเมริกา ในปี 1979 ครั้งที่ 2 ที่เชอร์โนบิล ยูเครน ในปี 1986 และครั้งที่ 3 ที่ฟุคุชิมะ ญี่ปุ่น ในปี 2011 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้การพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมถึง SMR โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตกต้องหยุดชะงักไป เนื่องจากมีความกังวลต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น แต่แล้วทำไมวันนี้กลับมีข่าวใหญ่ระดับโลก ว่าจะมีการทบทวนนำเอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยเฉพาะ SMR กลับมาพัฒนาอีก อีกทั้งยังมีข่าวใหญ่วงการพลังงานโลกอีกว่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี 3 เจ้าใหญ่ของโลก คือ Microsoft, Google และ Amazon Web Services กำลังจะหวนกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่ปลอดคาร์บอน เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนศูนย์ข้อมูลของแต่ละบริษัท ที่จะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เนื่องจากมีการใช้งาน Al จาก ChatGPT, Google Gemini, MidJourney และอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งจากทางด้านธุรกิจ การพาณิชย์ การศึกษา ฯลฯ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ล่าสุด Microsoft ได้เข้าไปซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ TMI-Unit 1 บนเกาะ Three Mile Island ซึ่งได้ปิดดำเนินการในปี 2019 น่ามาปัดฝุ่นใหม่ ส่วน Google ได้เซ็นสัญญาจะซื้อพลังงานจาก SMR ของ Kairos Power เพื่อผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บริษัทต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มอย่างมหาศาลเพื่อใช้ในศูนย์ข้อมูล AI โดยคาดว่า SMR เครื่องแรกจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปลายทศวรรษนี้ ในขณะเดียวกัน Amazon Web Services หรือ AWS มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปสู่เทคโนโลยี generative Al ซึ่งต้องใช้พลังงานเยอะมากโดย AWS จะลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้าง SMR ในรัฐ Virginia และ Washington 3 โครงการ ทั้งนี้ การลงทุนทั้งหมดของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั้ง 3 บริษัท มีเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
นอกจากนั้นนักวิชาการหลายท่านได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ว่าทำไมถึงนำนิวเคลียร์ มาปัดฝุ่นใหม่
- เพราะเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนนานกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเกิดความเดือดร้อนด้านพลังงานในหลายประเทศ ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ ที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ละประเทศต่างก็ตระหนักว่า การที่ต้องนำเข้าพลังงานมากเกินไปจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศของตนเอง จะเพิ่มความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประเทศ
- เพราะขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ digital transformation ซึ่งจะมีการเพิ่มการใช้ไฟฟ้าในศูนย์ข้อมูล, AI, หุ่นยนต์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างมากมายมหาศาล โดยพลังงานหมุนเวียนจากสายลม แสงอาทิตย์ไม่อาจผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ และทันกับความต้องการของไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป
- เพราะโลกต้องการพลังงานที่ปราศจากคาร์บอน มีราคาถูก มีเสถียรภาพและยั่งยืน ที่ที่สำคัญไม่ก่อปัญหาโลกรวม
- เพราะโรงไฟฟ้า SMR จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า สามารถเดินเครื่องได้ 24 ชั่วโมง สามารถใช้เดินเครื่องร่วมกับพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นได้โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์
- เพราะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพราะใช้เชื้อเพลิงน้อยแต่ให้ความรัอนสูง เช่น ใช้ยูเรเนียม 1 กิโลกรัม สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับถ่านหิน 100,000 กิโลกรัม หรือ ก๊าซธรรมชาติ 50,000 กิโลกรัม
- เพราะโรงไฟฟ้า SMR ขนาด 300 เมกะวัตต์ จะใช้ยูเรเนียมเฉลี่ยประมาณ 12 ตันต่อปี มีปริมาณมากเลือกซื้อได้หลายแหล่ง ไม่ผูกขาดเหมือนพลังงานชนิดอื่น ไม่ผันผวน และมีต้นทุนที่แข่งขันได้
เหตุผลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า "พลังงานที่เหมือนจะเลือนหายไป
แต่ทำไมเริ่มกลับมาชัดเจนในปัจจุบันและอนาคต ? "
กลับมาที่ประเทศไทยเอง องค์กรผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้ทำการบ้านเพื่อวางแผนงานให้ทันต่อสถานการณ์ ตามร่างแผน PDP 2024 ที่ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้า SMR เอาไว้ในช่วงปลายของแผน PDP 2024 หากเป็นไปตามแผน จะต้องเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายในปี 2574 และเริ่มปัดฝุ่นข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพ และสรรหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การหันกลับมาทบทวน การให้ข้อมูลความรู้ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน แม้ว่า SMR จะเป็นเรื่องใหม่ แต่สำหรับประเทศไทย กฟผ. เคยมีแนวคิดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากว่า 30 ปี เพราะด้วยความพร้อมของ กฟผ. ที่มีการพัฒนาบุคลากรมาอย่างต่อเนื่อง เข้าร่วมอบรมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดที่ปลอดภัย และยั่งยืน
ดังนั้นหลาย ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมกันมานานแล้ว แต่ประชาชนพร้อมรู้จัก
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดจิ๋ว หรือ SMR แล้วหรือยัง !!!!
บทความโดย รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit