ในโลกยุคดิจิทัลที่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ เอไอ (AI) เป็นเมกะเทรนด์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการสื่อสารมวลชนที่ AI เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันสื่อชั้นนำระดับโลก รวมถึงสื่อไทยหลายสำนักได้นำเทคโนโลยี AI มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานข่าวและต่อยอดงานข่าวได้หลากหลายมิติ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยพีบีเอส เปิดเวทีใหญ่ "AI Horizons: The Future of Media เมื่อโลกของสื่อ..ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI" เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของไทยพีบีเอส และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับ AI และสื่อในอนาคต ตอกย้ำบทบาทสื่อสาธารณะที่มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยจริยธรรม บนพื้นฐานความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส กล่าวเปิดเวทีในหัวข้อ "มุมมองสู่อนาคตสื่อสาธารณะ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อยุคปัญญาประดิษฐ์" ว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในวงการสื่อสารมวลชน ในส่วนของไทยพีบีเอสพร้อมที่จะขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในยุค AI ภายใต้วิสัยทัศน์ '3 ความท้าทาย 9 ความมุ่งมั่น'
ความท้าทายแรก คือ STAYING RELEVANT ทำอย่างไรที่จะยึดโยงกับผู้ชมผู้ฟังได้อย่างแท้จริงและทั่วถึง ด้วยความมุ่งมั่น ดังนี้ 1. ใช้ AI ทำงาน รวบรวมความสนใจจากหลายแพลตฟอร์มของไทยพีบีเอสมาอยู่ในจุดเดียว สู่ One Thai PBS เนื้อหาที่คุณสนใจ เข้าถึงทุกเนื้อหาและบริการได้ในจุดเดียว คาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปี 2568 2. ให้กลุ่มคนที่ตกหล่นจากสื่อสามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น คนที่ใช้ภาษาถิ่น หรือแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในไทย โดยตั้งเป้า 5 ปี คอนเทนต์ 40% จะต้องมีซับไตเติลแบบเรียลไทม์ แปลเป็นภาษาท้องถิ่นโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึก 3. INCLUSIVE COMMUNICATION การสื่อสารที่ครอบคลุม ซึ่งปัจจุบันมีบริการ Text in to Speech และภายใน 5 ปีข้างหน้า คอนเทนต์ทั้งหมดของไทยพีบีเอสจะมีบริการ AI Voice, AI in Brief, Text to Speech แบบ 100% ของเนื้อหาทั้งหมดที่เผยแพร่ในทุกช่องทาง
ความท้าทายที่สอง ได้แก่ TRUSTED SOCIETY ทำอย่างไรที่จะสะท้อนปัญหาและสื่อสารความคิดของคนไทยสู่สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมาและปราศจากอคติ ด้วยความมุ่งมั่นข้อ 4. ทำให้ความจริงหาง่าย ประเทศไทยต้องมีระบบ Fact - Checking กลางที่ กสทช. เป็นเจ้าภาพดำเนินการ 5. การนำ AI มาใช้ที่เรียกว่า Public Crowdsourcing เปลี่ยนกระบวนการหาความจริงที่เกิดจากสาธารณะร่วมกันทำ แทนวิธีใช้นักข่าวเป็นศูนย์กลาง และ 6. Deliberative Dialogue เปิดพื้นที่รับฟังและการเจรจาอย่างไตร่ตรองเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยบนฐานข้อมูล
ความท้าทายสุดท้าย คือ RESILIENT THAIS ทำอย่างไรที่จะสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยสู่ยุค AI ได้อย่างเท่าทันและสร้างสรรค์ ทำได้ด้วยความมุ่งมั่นข้อ 7. AI-READY SOCIETY กับการเป็นฮับของฐานข้อมูลสังคม 8. HUMAN-CENTRED AI โดยไทยพีบีเอสตั้งเป้าปี 2568 จะมีคอนเทนต์ที่รองรับ HUMAN-CENTRED AI ไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง ด้วยเนื้อหาหลากหลาย เช่น งาน การศึกษา ผู้ด้อยโอกาส และการหลอกลวง และ 9. ETHICS AND RESPONSIBLE USE OF AI วางแผนแนวทางการใช้ AI ภายในองค์กรด้วยจริยธรรมและความรับผิดชอบ
"ถึงแม้ว่าการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมสื่อจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องควบคุมการใช้ AI ด้วยคุณธรรมจริยธรรมและความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร จึงจะสามารถสร้างสังคมที่รอบรู้ สังคมที่เท่าทัน สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน และสังคมที่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ได้ เพื่อที่เราจะมีอนาคตที่ดีขึ้นของสังคมไทย อันนี้เป็นความมุ่งมั่นของไทยพีบีเอส และเชื่อว่าเราทำได้ถ้าทุก ๆ ฝ่ายร่วมมือกัน" ผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส กล่าว
ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตร กสทช. (ด้านกิจการโทรทัศน์) ให้มุมมองน่าสนใจว่า การใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในวงการสื่อสารมวลชน แต่ต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคม การกำกับดูแล AI มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันการใช้งานที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบจากการพัฒนา AI ในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแนวทางการกำกับดูแล AI อาจทำได้ด้วยการกำกับดูแลโดยกฎหมาย การกำกับดูแลกันเอง และสร้างการรู้เท่าทัน AI ถือเป็นเรื่องสำคัญมากและต้องใช้ทักษะสูง
"การสร้างสภาพแวดล้อมการกำกับดูแล AI ในสื่อไทย ต้องเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และใช้ทักษะเกี่ยวกับ AI มาปรับปรุงคุณภาพเนื้อหา เพื่อพัฒนานิเวศสื่อให้ไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ การสนับสนุนการลงทุนสร้างแหล่งทุนหรือกองทุนเชิงโครงสร้าง เพื่อลดช่องว่างทางความเชี่ยวชาญและการรู้เท่าทัน AI และการกำกับดูแล ด้วยการกำหนดกรอบกฎหมาย กฎระเบียบที่ชัดเจน เพื่อจัดการกับ Disinformation ปกป้องนักวิชาชีพสื่อและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยส่งเสริมการแสดงความรับผิดชอบในการใช้ AI ไปพร้อม ๆ กัน" ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว
ขณะที่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDTA) กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เป็นรองใครในเรื่องการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ รวมถึง AI ซึ่งโจทย์สำคัญคือจะใช้ AI อย่างไรให้เกิดประโยชน์ เนื่องจาก AI มีความพิเศษกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่สั่งแล้วทำตาม แต่ยังสามารถให้คำแนะนำได้ด้วย ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหากผู้ใช้งานรู้ไม่เท่าทัน การใช้ AI จึงมีทั้งโอกาสและข้อกังวล แต่ไม่อยากให้ความกังวลเป็นอุปสรรค เพราะข้อดีของ AI มีมากกว่าข้อเสีย จึงควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องติดตามการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างต่อเนื่อง เพราะ AI สามารถปลดล็อกข้อจำกัดที่เคยมีในกระบวนการผลิตสื่อ
"การใช้คำสั่งหรือการควบคุมการทำงานของ AI จะกลายเป็นทักษะที่ทุกคนต้องฝึกฝน เนื่องจากปัจจุบันทุกคนสามารถใช้ AI สร้างรูปได้เหมือนกัน รูปที่สร้างขึ้นมาจาก AI ก็จะมีมากมาย ดังนั้น ผู้ใช้ AI จะต้องฝึกใช้คำสั่ง หรือ Prompt ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ภาพหรือเนื้อหาที่ได้จาก AI มีความแตกต่าง โดยสิ่งสำคัญคือ การสนับสนุนเครื่องมือ AI ที่มีจริยธรรม เพราะเราไม่สามารถออกกฎหมายครอบคลุมได้ทั้งหมด กฎหมายจะเป็นคำตอบสุดท้าย การใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบและหลักจริยธรรม เพื่อให้ AI เป็นตัวนำประโยชน์มากกว่าโทษเข้าสู่สังคมไทย" ดร.ศักดิ์ กล่าว
เมื่อ AI กลายเป็นเครื่องมือที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนเผยแพร่จึงเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จของการใช้ AI ในวงการสื่อจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสื่อนั้นสร้างคุณค่าต่อสังคมและใช้งาน AI ด้วยความรับผิดชอบอย่างแท้จริง
สำหรับผู้สนใจที่พลาดงาน"AI Horizons: The Future of Media เมื่อโลกของสื่อ..ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI" ครั้งนี้ไป สามารถติดตามข้อมูลย้อนหลังได้ที่ www.thaipbs.or.th/AIHorizons
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit