ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมหมุดถนนเรืองแสงแบบไฮบริด โดยใช้เทคโนโลยี Glow-in-the-Dark (GiD) ร่วมกับการรีไซเคิลผงแก้ว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดตัวถนนเรืองแสงแห่งแรกในภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
รศ.ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ นักวิจัยจากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศไทย อินโดนีเซีย และ สหราชอาณาจักร ได้พัฒนาหมุดถนนแบบไฮบริด ที่ผสมผสานเทคโนโลยี ตัวสะท้อนแสงเรืองแสง Glow-in-the-Dark และผงแก้วรีไซเคิล ภายใต้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Mitsui Sumitomo Insurance Welfare Foundation จากประเทศญี่ปุ่น และมีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว
รศ.ดร.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า หมุดถนนแบบไฮบริดเรืองแสงนี้สามารถดูดซับพลังงานจากแสงในช่วงเวลากลางวันและปล่อยแสงในที่มืดได้ยาวนานถึง 8 ชั่วโมง และยังสามารถสะท้อนแสงไฟจากพาหนะ ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีแสงสว่างน้อย เช่น ทางโค้ง ทางแยก และจุดทางข้าม
โดยคุณสมบัติเด่นของวัสดุสะท้อนแสง ประกอบด้วย เพิ่มความสว่าง มีความสว่าง 150 mcd/m? หลังแปดชั่วโมงในความมืด สามารถสะท้อนแสงไฟจากพาหนะ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสะท้อนแสงทั่วไป ประหยัดพลังงาน ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนวัสดุได้ถึง 30% ด้วยการใช้ผงแก้วรีไซเคิล และทนทานต่อสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตามจากการทดลองนำตัวสะท้อนแสงเรืองแสงติดตั้งบนถนนภายในมหาวิทยาลัยและในพื้นที่ต่างๆ ปรากฏว่า ตัวสะท้อนแสงนี้สามารถทนต่อแรงกดจากยางรถยนต์น้ำหนักกว่า 30 ตันและยังคงความสว่างได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม
ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงวัสดุให้ทนทานยิ่งขึ้น รวมถึงขยายการใช้งานในระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังไม่มีระบบไฟถนน
นอกจากนี้คณะวิจัยได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ เป็นนวัตกรรมม้านั่งเรืองแสง และ กรวดเรืองแสง จากวัสดุรีไซเคิลสามารถเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้และยังใช้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ และหวังว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะได้รับการนำไปใช้ในระดับสากล เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยบนถนนทั่วโลกอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit