"เอกชน" แนะรัฐ เร่งลงทุนระบบคลาวด์กลาง เพื่อลดต้นทุนและเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีกกว่าอยู่ 3.2 ล้านราย ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลทวีความรุนแรง

11 Dec 2024

จากงานสัมมนา "Digital Nation: Making it Happen" ที่จัดขึ้นโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเชิญกูรู ผู้บริหารชั้นนำทั้งจากภาครัฐ เอกชน ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม แลกเปลี่ยนมุมมอง และวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 แนะภาครัฐ เร่งลงทุนพัฒนาระบบคลาวด์กลาง หรือ Cloud Center เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation) ให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยที่มีอยู่ 3.2 ล้านราย ที่ไม่มีทุนมากพอที่จะพัฒนาและเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ธุรกิจดิจิทัล ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน

"เอกชน" แนะรัฐ เร่งลงทุนระบบคลาวด์กลาง เพื่อลดต้นทุนและเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีกกว่าอยู่ 3.2 ล้านราย ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลทวีความรุนแรง

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวถึงผลการวิจัยเรื่อง Digital Maturity in Thailand 2023-2024 พบว่า "ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อมของไทยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางถึงใหญ่ ที่มีรายได้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทต่อปี ขึ้นไป ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กหรือ Micro Business ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI น้อย มีปัญหาทั้งเรื่องของการเข้าถึงและบุคลากรที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

ภาคธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI สูงสุดคือ กลุ่มธุรกิจการเงินและประกัน ตามมาด้วยธุรกิจด้านไอที และ ภาคการขนส่ง ในขณะธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ AI น้อยที่สุดคือ ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก โดยเฉพาะร้านประเภทโชห่วย และภาคการผลิตขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้เนื่องจากธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นธุรกิจที่ต้องเข้าถึงผู้ซื้อจำนวนมาก การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามาใช้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิต เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน ทำให้มีกำไรมากขึ้น" นายมีธรรม กล่าว

"การนำเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตและการตลาด มีต้นทุนในการปรับปรุงและเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่สูง เป็นปัญหาที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ไม่สามารถที่จะลงทุนได้จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรจะเข้ามาสนับสนุนเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจและแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยจากอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จากผลการศึกษาของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า การจะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ การที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็น Digital Nation ต้องมีการพัฒนา Cloud Service ให้มีประสิทธิภาพ Cloud เป็นระบบที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เมื่อนำระบบ Cloud มาใช้จะทำให้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในด้านของการเข้าถึงเทคโนโลยีดีขึ้นในต้นทุนที่ถูกกว่าเทคโนโลยีอื่น" นายมีธรรม อธิบายเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับการเปิดเผยถึงผลการศึกษาของ Boston Consulting Group (BCG) นายเบนยามิน ฟิงเกอร์เล (Benjamin Fingerle) กรรมการผู้จัดการและพาร์ทเนอร์ BCG ระบุว่า "ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยี AI ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ภาคธุรกิจของไทยกว่า 300 บริษัทมีพัฒนาการในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI จากขั้นเริ่มต้น (Starter) ไปสู่ขั้นการใช้งานแบบผู้เชี่ยวชาญ (Performer) อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะเป็นพัฒนาการของภาคธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ซึ่งมีเงินทุนมากพอสำหรับการลงทุนพัฒนาและวางระบบ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทยยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการผลิตและการตลาดเข้าสู่ระบบดิจิทัลและ AI ได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินทุน"

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทย ที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจดิจิทัลและ AI ได้ เป็นผลมาจากหลายบริษัทมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน รายได้ของธุรกิจยังติดลบ และบางแห่งที่มีกำไรก็ไม่เพียงพอสำหรับการลงทุน

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยพบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก รู้ว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจสู่ดิจิทัลมีประโยชน์ แต่ยังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพราะมีปัญหาเรื่องเงินทุน ต้องใช้เวลา 2-5 ปีในการปรับเปลี่ยน จากผลการสำรวจพบว่า 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและใช้ดิจิทัลและ AI ภายใน 2 ปี และอีก 30% พร้อมใช้ใน 3-5 ปี ปัญหาใหญ่ที่กังวลสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กคือเรื่องของเงินทุน แต่ถ้ารัฐบาลมีเทคโนโลยีกลางหรือ Cloud Center ให้ เขาก็พร้อมที่จะเข้าไปใช้งาน" ดร. ฐิติมา กล่าว

นอกจากนี้ นางสาวปาจรีย์ แสงคำ หัวหน้าส่วนเทคโนโลยีดิจิทัล (Head of Digital Technology) บริษัทโอสถสภา จำกัด (มหาชน) ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ถ้ารัฐบาลสามารถลงทุนระบบ Cloud Center ให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็กมาใช้บริการได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเพิ่มรายได้ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และนำพาประเทศไปสู่การเป็น Digital Nation ได้ อย่าง โอสถสภาฯ เรามีเงินทุน ที่มาลงทุนพัฒนาระบบ ซึ่งช่วยให้เราบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มรายได้ได้ แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก มีเงินทุนไม่เพียงพอ ถ้าเราปล่อยให้เขาพัฒนาเอง ต้องใช้เวลานานมาก ส่วนตัวมองว่าถ้ารัฐเข้ามาพัฒนาระบบ Cloud Center ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กจะทำให้พวกเขาสามารถลดต้นทุนจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) สามารถก้าวกระโดดเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วขึ้น และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Digital Nation" นางสาวปาจรีย์ กล่าว

นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่คว่ำหวอดในด้านธุรกิจ Digital Solution Provider ก็ยอมรับว่า "การที่เราจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และ Digital Nation ได้ จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในระบบเพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ระบบได้ ธุรกิจต้องมีทุนเพียงพอ จากนั้นถึงจะพัฒนาและลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี สำหรับธุรกิจขนาดกลางและใหญ่อาจไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็กแล้ว รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้

นอกจากการลงทุนในเรื่องของระบบ Cloud Center แล้ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร จากผลการศึกษาล่าสุดพบว่า บุคลากรด้านดิจิทัลของไทยในระดับที่ทำงานได้ระดับ 3-4 มีเพียง 1% ของทั้งประเทศคือประมาณแสนกว่าคน น้อยกว่าสิงคโปร์ และมาเลเซีย ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในด้านนี้ให้เพิ่มขึ้น" นายปนายุ กล่าว

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยในส่วนของภาครัฐ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบ Could Center ว่า " ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการพัฒนาระบบ Cloud สำหรับการทำงานของรัฐบาลที่ให้บริการประชาชนอยู่ เพื่อจะช่วยประหยัดงบประมาณในการประมวลผลพื้นฐานได้ 30-50% ในส่วนของการพัฒนาระบบ Cloud Center เพื่อธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีการดำเนินการหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามระบบ Cloud ของรัฐบาลที่มีพัฒนาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและมีเป้าหมายสู่การเป็น Digital Nation และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันและการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นอยู่แล้ว" ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งสิ้น 3.2 ล้านรายทั่วประเทศคิดเป็น 99.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด มีการจ้างงานมากถึง 12.8 ล้านคน สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38.5% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDPs)

"เอกชน" แนะรัฐ เร่งลงทุนระบบคลาวด์กลาง เพื่อลดต้นทุนและเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีกกว่าอยู่ 3.2 ล้านราย ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลทวีความรุนแรง