นักวิจัยโรคพืช ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แนะนำ5วิธีฟื้นฟูต้นพืชให้แก่เกษตรกร หลังเกิดน้ำท่วมอย่างหนักในพื้นที่ภาคใต้
จากสถานการณ์น้ำท่วมแปลงปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด และในบางพื้นที่ท่วมเป็นเวลาหลายวัน สร้างความเสียหายแก่ต้นพืชหลายด้าน ทั้งทำให้รากพืชขาดอากาศทำให้การดูดซับธาตุอาหารน้อยลงส่งผลให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต หน้าดินเกิดการชะล้างอาจให้รากพืชขาดหรือเกิดแผลทำให้เชื้อโรคพืชเข้าสู่รากพืชได้มากขึ้น
จุลินทรีย์ต่างๆ รวมทั้งกลุ่มโรคเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณได้มากขึ้น ซึ่งผลเหล่านี้สร้างความเสียหายแก่ต้นพืชทั้งชะงักการเจริญเติบโตและมีโอกาสเกิดโรคพืชมากขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ไม่ทนต่อสภาวะน้ำท่วมขัง เช่น ทุเรียน ถ้าแช่ขังในน้ำนิ่งประมาณ 3 วันจะเริ่มแสดงอาการใบสลดอย่างเห็นได้ชัด ส่วนพืชตระกูลส้ม (ส้มโอทับทิมสยาม) มังคุด ปาล์มน้ำมัน และยางพารา จะแสดงอาการช้ากว่า เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา นักวิจัยทางด้านโรคพืชในฐานะหัวหน้าศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า หากน้ำท่วมขังเป็นเวลานานจะยิ่งส่งผลเสียต่อพืช จึงแนะนำให้เกษตรกรเร่งปฏิบัติดังนี้ 1. เร่งการระบายน้ำออกจากพื้นที่แปลงปลูกพืช เพื่อให้รากพืชได้รับอากาศเร็วที่สุด 2. หากไม่จำเป็นอย่านำเครื่องจักรกลหนักเข้าพื้นที่ เพราะจะทำให้โครงสร้างดินแน่นขึ้นและรากพืชขาดเสียหายมากยิ่งขึ้น 3. อย่าเร่งใส่ปุ๋ยที่มีความเค็มสูง เพราะจะทำให้รากพืชเน่าเปื่อย โดยเฉพาะรากพืชที่เกิดแผลจากสภาวะน้ำท่วมได้ 4. พ่นชีวภัณฑ์จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ (จุลินทรีย์ดี) เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา เมตาไรเซียม บิวเวอร์เรีย หรือแบคทีเรียบาซิลลัส เพื่อช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์โรคพืชและแมลงศัตรูพืช เพื่อลดความเสียหายในสภาวะต้นพืชอ่อน และ 5. หากต้นพืชโทรมเพราะรากดูดซับธาตุอาหารได้น้อยลง ให้พ่นฮอร์โมนทางใบแก่ต้นพืชได้ ซึ่งอาจผสมร่วมกับเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ได้
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร ม.วลัยลักษณ์ ทั้งทางเพจ: ศูนย์ชีวินทรีย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์/ไตรโคเดอร์มา ม.วลัยลักษณ์ ทางไลน์: tcruwu หรือโทร 092-3293569/075-677200
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit