กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า (โยธี) กระทรวง อว. และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานการประชุม และมีประเด็นนำเสนอสำคัญต่อที่ประชุมคือ การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ชุดใหม่ และการรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของ สอวช. และหน่วยบริหารจัดการทุน
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอต่อที่ประชุม เรื่องการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ชุดใหม่ ตามคำสั่งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ 4/2567 ประกอบด้วย 1. ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย 2. ศาสตราจารย์ (วิจัย) ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต 3.รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม 4. นายนฤตม์ เทิดสถิรศักดิ์ 5.นายชนะภูมี และ 6. นายธีระวัฒน์ ลิมปิบันเทิง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2567 และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี
จากนั้น ดร.สุรชัย ได้รายงานผลการดำเนินงานของ สอวช. ในปีงบประมาณ 2567 ว่า สอวช. ได้ออกแบบนโยบายและกลไกด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศเพื่อยกระดับไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ มีเป้าหมายสำคัญคือ ยกระดับธุรกิจนวัตกรรม ผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม 1,000 ล้าน 1,000 ราย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วย อววน. 1 ล้านคน สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงขึ้นเป็น 25% ให้ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว
ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมา สอวช. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 1. ยกระดับประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยการสร้างแพลตฟอร์มยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการสเกลอัพสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ 2. เตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยลดระยะเวลาเข้าสู่ตลาดของ Future Food นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม 500,000 ล้านบาทในปี 2570 และได้สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ พร้อมโปรแกรมการเตรียมกำลังคนรองรับการลงทุนมูลค่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันให้เกิดมาตรฐานและการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV-Conversion) นำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อเป็น EV hub ของโลก โดย สอวช. เป็นประธานขับเคลื่อนจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง และได้ร่วมก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไทยด้วย
3. นโยบายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยจัดทำโจทย์วิจัยสำหรับพื้นที่สูง เพื่อบรรจุในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมทั้งพัฒนา Social Enterprise Incubation Platform เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และยังได้จัดทำกลไกนวัตกรรมการศึกษา เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา 4. นโยบายลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยการสร้างระบบนิเวศส่งเสริมกลไก อววน. มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero 1 พื้นที่นำร่องของประเทศไทย และสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุน 50 มหาวิทยาลัย สู่เป้าหมาย Net Zero
5. เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25% โดยสร้างแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง สนับสนุนการพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนใช้มาตรการ Thailand Plus Package พันฒนาทักษะแรงงาน STEM 10,189 ตำแหน่ง จาก 186 บริษัท และได้ผลิตหลักสูตร STEM 1,157 หลักสูตร นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความต้องการบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมรายอุตสาหกรรม พ.ศ. 2568 - 2572 6. University Transformation เกิดต้นแบบการผลิตคนสมรรถนะสูง ผ่านกลไก Higher Education Sandbox ร่วมกับเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม และทดลองผลิตกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการในระยะเร่งด่วน โดยปัจจุบันมีหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์รวม 16 หลักสูตร ตั้งเป้าหมายการผลิตกำลังคน 26,045 คน และ 7. เพิ่มประสิทธิภาพระบบ อววน. จากระบบการจัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์การวิจัยตามพันธกิจและเป้าประสงค์ของแต่ละกระทรวง เกิดแนวนโยบายบูรณาการ การนำเข้าและเชื่อมโยงข้อมูลด้าน อววน. เพื่อความเป็นเอกภาพของข้อมูลระบบ อววน. แบบไร้รอยต่อ
ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สอวช. ยังได้จัดทำข้อริเริ่มเชิงนโยบาย โดยนำ อววน. เข้าสนับสนุนเป้าหมายระดับชาติ ได้แก่ 1. การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรม 2. เตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3. นโยบายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 4. ระบบนิเวศส่งเสริมกลไก อววน. มุ่งเป้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) 5. พัฒนาแพลตฟอร์มบูรณาการมาตรการและกลไกสนับสนุนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และ 6. ปรับระบบการอุดมศึกษาให้เพิ่มคุณภาพชีวิตบัณฑิต
ด้านหน่วยบริหารและจัดการทุน ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 2. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ 3. หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ก็ได้นำเสนอผลงาน ประจำปีงบประมาณ 2567 ด้วยเช่นเดียวกัน โดย บพค. ได้นำเสนอถึงการสนับสนุนทุนตลอดปีงบประมาณ 2567 จำนวน 965.32 ล้านบาท ให้กับ 46 หน่วยงาน โดยมีผลงานเด่น ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัยตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสร้างเครือข่ายและขับเคลื่อนงานวิจัยด้านการพัฒนากำลังคนทักษะสูง
ด้าน บพท. นำเสนอผลงานการยกระดับฐานะทางสังคมด้วยการจัดทำแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (PPAP) โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้จัดทำแพลตฟอร์ม Local Enterprises เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบอาชีพ เกิดการพัฒนาและยกระดับ "คน ของ และตลาด" ในส่วนของ บพข. ปีงบประมาณ 2567 สามารถยกระดับนวัตกรรมพร้อมเข้าสู่เชิงพาณิชย์ 185 รายการ ยกระดับผู้ประกอบการ 133 ราย ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับงานวิจัยตามมาตรฐานสากล 123 รายการ สร้างกำลังคนทักษะสูง 833 คน เพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง 8,049 คน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 4,800 ล้านบาท
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit