พญ. ภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเร่งสร้างความตระหนักรู้และแนวทางส่งเสริมด้านโภชนาการ เพื่อควบคุมการบริโภคเกลือและโซเดียมของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรายใหม่พบสูงมากขึ้นทุกปี ซึ่งผลการตรวจสุขภาพประชาชน 1 ล้านคนของ กทม. ในปี 2567 พบว่าประชาชนมีพฤติกรรมบริโภคอาหารเค็มและหมักดองเป็นประจำอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ สูงถึงร้อยละ 24 และพบสูงสุดในประชาชนกลุ่มอายุ 15-34 ปี สูงถึงร้อยละ 36
ทั้งนี้ กทม. ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย (SALTS) และร่วมขับเคลื่อนนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมในปีงบประมาณ 2567 โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานตลาด กทม. ผู้จัดการตลาด Premium Market และบุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งสำรวจปริมาณโซเดียมในตัวอย่างอาหารในชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และร้านจำหน่ายอาหารในพื้นที่ 50 เขต ประเมินความตระหนักรู้ของประชาชน และขยายผลไปยังตลาดอื่น ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึง Healthy Canteen ในโรงอาหารศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) ตลอดจนประชาสัมพันธ์ตลาดและร้านค้าที่จำหน่ายอาหารเค็มน้อยสั่งได้ สุขภาพดีสั่งได้ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ "BMA Nutri Chat"
นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยเชิงรุกในชุมชนผ่านหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยมีนักโภชนาการให้คำแนะนำด้านโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม สร้างความตระหนักเรื่องโซเดียม การใช้เครื่องปรุง การอ่านฉลากโภชนาการ และแนะนำการออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ อีกทั้งมีบุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุขเยี่ยมบ้านประเมินภาวะโภชนาการในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ พร้อมให้คำแนะนำการบริโภคอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่
ส่วนการควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารเช้าและกลางวันในโรงเรียนสังกัด กทม. ได้ใช้โปรแกรม Thai School Lunch for BMA จัดอาหาร โดยกำหนดเมนูที่เหมาะสมตามแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ซึ่งได้ทดลองคำนวณและวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารโดยนักโภชนาการของ สนอ. เพื่อให้มีความหลากหลายและได้คุณค่าสารอาหารครบถ้วนเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายตามวัย พร้อมทั้งขอความร่วมมือโรงเรียนในสังกัดและนอกสังกัดดำเนินการมาตรการ 9 ข้อในการส่งเสริมด้านโภชนาการในโรงเรียน รวมถึงให้นักโภชนาการลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่เด็กในโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการแก่เด็กให้สามารถเลือกรับประทานอาหารและมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า สนศ. ได้สนับสนุนระบบ Thai School Lunch for BMA ให้กับโรงเรียนในสังกัดใช้ในการจัดสำรับอาหารเช้าและอาหารกลางวันทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด กทม. โดยสำรับอาหารในระบบฯ กำหนดจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สนอ. ซึ่งเมื่อโรงเรียนจัดสำรับอาหาร ระบบฯ จะคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ประกอบสำรับอาหารและคุณค่าสารอาหาร เช่น พลังงาน โปรตีน ไขมัน วิตามิน โซเดียม น้ำตาล ต่อเด็ก 1 คน ว่าสารอาหารที่ได้รับผ่าน มากเกินไป น้อยเกินไป หรือค่อนข้างมาก หากพบว่ามีโซเดียมมากเกินกำหนด ในขั้นตอนการปรุงอาหาร ผู้ปรุงจะปรับลดปริมาณวัตถุดิบให้ลดลงจากที่ระบบฯ คำนวณไว้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit