เปิดมุมมอง "ข้าวไทย" ต้องปรับอย่างไร?...เมื่อโลกเปลี่ยน ยุทธศาสตร์ใหม่ควรมุ่งสร้างคุณค่า มากกว่าเน้นแข่งขันเพื่อเป็นเบอร์หนึ่ง

20 Dec 2024

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม กฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ "ข้าวไทย" ที่เคยอุ้มชูเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ต้องปรับตัวรับมืออย่างไร? งาน Thailand Rice Fest 2024 เปิดเวทีเสวนา "นโยบายข้าวไทย กับเมื่อโลกเปลี่ยนข้าวต้องปรับ" สะท้อนมุมมองการสร้างคุณค่าให้ข้าวไทย เพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดย รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ที่ปรึกษาและนักวิจัยอาวุโสศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เปิดมุมมอง "ข้าวไทย" ต้องปรับอย่างไร?...เมื่อโลกเปลี่ยน ยุทธศาสตร์ใหม่ควรมุ่งสร้างคุณค่า มากกว่าเน้นแข่งขันเพื่อเป็นเบอร์หนึ่ง

สร้างสมดุลความสัมพันธ์-วางเป้าหมายให้ชัด

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดมุมมองว่า เรื่องข้าวเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีกลุ่มคนเกี่ยวข้องจำนวนมาก และแต่คนไม่ได้มองเป้าหมายเดียวกัน จึงต้องมองในภาพใหญ่ เพื่อสร้างสมดุลความสัมพันธ์ให้ดี ไม่ใช่มองแค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งในเชิงทฤษฎีเป็นบทบาทของภาครัฐ แต่สำหรับประเทศไทยรัฐบาลเปลี่ยนบ่อย ดังนั้น ข้าราชการที่อยู่มานานจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางข้าวในระบบเศรษฐกิจของไทย โดยการปรับตัวของข้าวไทยเป็นโจทย์ใหญ่มาก มองว่าสิ่งสำคัญคือต้องมีการพูดคุยกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อหาเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน เพราะหากภาพใหญ่ไม่ชัด ซึ่งจะทำให้งานวิจัยเดินไปในทิศทางที่สอดรับกัน

การสนับสนุนเกษตรกรเป็นบทบาทของหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกัน และต้องทำงานในหลายมิติ ซึ่งการปรับตัวของเกษตรกรต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมาตรการต่าง ๆ มากมายที่ต้องไปคิดร่วมกันในเชิงลึกหลังจากที่ได้เป้าหมายชัดเจน ทั้งเรื่องมาตรฐารทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการทางกฎหมาย และที่สำคัญคือ มาตรการสนับสนุนที่มีเงื่อนไขให้เกษตรกรปรับตัวสู่เป้าหมายร่วมกันอย่างจริงจัง รวมถึงการสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่จำนวนมาก แต่ยังขาดการเชื่อมต่อไปสู่การนำไปใช้จริง ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน

ขับเคลื่อนอย่างมีกลยุทธ์ สร้างคุณค่าเจาะ Niche Market

นอกจากมองหากลไกลอื่น ๆ มาสนับสนุนการทำงานของเกษตกรแล้ว ภาครัฐต้องขับเคลื่อนข้าวไทยอย่างมีกลยุทธ์ มีการวางตำแหน่งของข้าวแต่ละกลุ่ม ตามพื้นที่การปลูก สภาพอากาศ คุณภาพมาตรฐาน คุณค่าทางการตลาด ต้นทุน รวมทั้งการปรับตัวต่าง ๆ ที่ถูกนำไปใส่ไว้ในการออกแบบ โดยประเทศไทยควรเลิกมองเรื่องความสามารถในการแข่งขันได้แล้ว เพราะการส่งออกข้าวเติบโตได้ดีจนเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในช่วงที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากนโยบายของประเทศคู่ค้า และปัญหาภายในของประเทศผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งปัจจุบันกลับมาใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการแข่งขัน และไทยสู้ไม่ได้จริง ๆ ดังนั้น ต้องคิดหาวิธีเพิ่มคุณค่าทำให้ข้าวไทยมีคุณภาพมากขึ้น เจาะตลาดแบบเฉพาะเจาะจง (Niche Market)

"เส้นทางของข้าวมีเส้นทางอื่นในการสร้างรายได้ ไม่ใช่แค่ใช้ประโยชน์จากการซื้อขายข้าว สามารถเป็นฟังก์ชันนอล ฟู้ด เป็นสารสกัด หรือเป็นคอสเมติกก็ได้ รวมถึงนำการผลิตข้าวมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำให้ผู้บริโภคเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหาร เรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวิถีวัฒนธรรม การพัฒนาเชิงบวก เป็นรายได้แหล่งที่ 3 ดังนั้น เราต้องกำหนดเป้าหมาย และวาง position ของข้าวให้ชัดว่าเรากำลังมองข้าวในบทบาทที่หลากหลาย เพื่อให้ข้าวสามารถทำหน้าที่ได้หลากหลายอย่างแท้จริง ก็จะเป็นโอกาสของข้าวในการเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนไป"

โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีก้าวกระโดด กระทบทั้งซัพพลายเชน

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ที่ปรึกษาและนักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โลกมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ 10 ปีที่ผ่าน มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงอย่างคาดไม่ถึง ทำให้นโยบายของหลายประเทศเปลี่ยนไป โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นนโยบายสำคัญของอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดมาก และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของซัพพลาย เชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรด้วย โดยปัญหาของประเทศไทยเรื่องเทคโนโลยีคือไม่ได้ดำเนินการจริงจังอย่างเป็นระบบ

"ข้าวไทยติดกับดักความภูมิใจความเป็นเบอร์หนึ่ง จึงไม่ได้คิดปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งเวลานี้ถ้าจะมองข้าวเป็น mass production มองข้าวเป็นพลังงานหลักแค่ท้องอิ่มอย่างเดียวก็อาจไม่ใช่อนาคต เพราะข้าวมีคุณค่ามาก ๆ โดยเฉพาะในแง่ของโภชนาการ ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ผมมองว่าถ้าการเป็นข้าวคุณภาพแล้วอันดับการส่งออกอาจถอยลงมาบ้างก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องทำงานเพิ่มเติมในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เมื่อพูดถึง soft power อาจแต่งเรื่องราว ทำ story ให้มากขึ้นว่าข้าวไทยเป็นจิตวัญญาณของคนไทย มีบทบาททั้งเชิงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้มีเอกลักษณ์ หรืออาหารไทยต้องกินกับข้าว และสิ่งที่เราอยากให้เป็นคือ ข้าวเป็นหนึ่งของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน"

ยุทธศาสตร์พัฒนาข้าวไทยต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ

การวางแผนพัฒนายุทธศาสตร์ข้าว ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และที่สำคัญต้องมองในภาพใหญ่ ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มเดียว ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมา การวางแผนพัฒนาของประเทศไทยจะมีเป้าหมายแบบคลุมเครือ นอกจากนี้ นโยบายที่กำหนดออกมาต้องสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง โดยส่วนตัวมองว่า BCG Model คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 เศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นแนวทางที่ดี เพราะเป็นการบูรณาการทั้งห่วงโซ่คุณค่า ครบในมิติของเศรษฐศาสตร์ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit